Anne Frank
อันเนอลีส มารี “อันเนอ” ฟรังค์ หรือแอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เธอมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้เขียนบันทึกประจำวันซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ บรรยายเหตุการณ์ขณะหลบซ่อนตัวจากการล่าชาวยิวในประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่ถูกเยอรมนีเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ครอบครัวของเธอได้ย้ายไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2476 หลังจากพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจ ต่อมาเมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับออกมาตรการควบคุมชาวยิวจำนวนมาก เธอและครอบครัวกับผู้อื่นอีก 4 คนจึงต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่ในอาคารสำนักงานในกรุงอัมสเตอร์ดัมของออทโท ฟรังค์ ผู้เป็นบิดาในห้องลับบนหลังคาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จนถูกหักหลังและถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกันในปี พ.ศ. 2487 อันเนอ ฟรังค์เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ในเวลาใกล้เคียงกับพี่สาวในค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม พ.ศ. 2488 สมาชิกตระกูลฟรังค์มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว คือออทโทผู้เป็นพ่อ เขากลับมาอัมสเตอร์ดัมหลังสงครามสิ้นสุดและได้พบสมุดบันทึกของเธอที่เพื่อนเก็บรักษาไว้ให้ จึงพยายามนำออกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2490 ใช้ชื่อหนังสือว่า “Het Achterhuis” หลังจากนั้นมีการแปลจากต้นฉบับภาษาดัตช์ออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “The Diary of a Young Girl” ส่วนฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์”
อันเนอ ฟรังค์ได้รับสมุดบันทึกเป็นของขวัญวันเกิดครบ 13 ขวบ เธอเริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 และสิ้นสุดในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 บันทึกได้รับการแปลจากภาษาดัตช์ออกเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายและกลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก นอกจากภาพยนตร์แล้วยังมีการนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ ละครเวที และแม้แต่อุปรากร งานบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ถือว่าเป็นการเขียนงานอย่างผู้ใหญ่เต็มตัวและเต็มไปด้วยความช่างคิด แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันที่แท้จริงภายใต้อำนาจพวกนาซี เป็นการพรรณนาถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โด่งดังที่สุด อันเนอ ฟรังค์ ได้รับเลือกจากนิตยสารไทมส์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิของมนุษย์
อันเนอลีส มารี “อันเนอ” ฟรังค์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นบุตรีคนที่สองของออทโท ฟรังค์ (2432-2523) และเอดิท ฮอลเลนเดอร์ (2443-2488) มีพี่สาวชื่อ มาร์กอท ฟรังค์ (2469-2488) ครอบครัวฟรังค์เป็นชาวยิวหัวก้าวหน้า อาศัยอยู่ในชุมชนผสมระหว่างชาวยิวกับพลเมืองอื่น ๆ ทำให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาในแวดล้อมของสหายกลุ่มต่าง ๆ ทั้งคาทอลิก, โปรเตสแตนต์ และชาวยิวเอง พวกเขาไม่ใคร่เคร่งครัดประเพณีในศาสนายูดายมากนัก เอดิทปกครองเด็ก ๆ อย่างเคร่งครัดมากกว่า ขณะที่ออทโทซึ่งเป็นนายทหารเยอรมันที่ได้รับเหรียญตราจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ให้ความสนใจกับความรู้วิชาการและมีห้องสมุดใหญ่เป็นของตัวเอง ทั้งพ่อและแม่ต่างสนับสนุนให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือ
วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2476 มีการเลือกตั้งในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต และพรรคนาซีของฮิตเลอร์เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง มีการออกกฎหมายต่อต้านชาวยิวแทบจะในทันที ทำให้ครอบครัวฟรังค์เริ่มวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกตนหากยังคงอยู่ในเยอรมนีต่อไป ปีต่อมา เอดิทและเด็ก ๆ จึงเดินทางไปยังเมืองอาเคิน (Aachen) เพื่อพำนักอยู่กับมารดาของเอดิท คือนางโรซา ฮอลเลนเดอร์ ออทโท ฟรังค์ยังคงอยู่ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตต่อไป แต่ต่อมาเขาได้รับข้อเสนอให้ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในอัมสเตอร์ดัมชื่อว่าโอเพคทา เขาจึงย้ายไปเริ่มต้นธุรกิจที่นั่นและพาครอบครัวไปด้วย ครอบครัวฟรังค์เป็นหนึ่งในบรรดาชาวยิวกว่า 300,000 คนที่อพยพออกจากเยอรมนีระหว่างปี พ.ศ. 2476 ถึง 2482
ออทโท ฟรังค์ เริ่มทำงานที่บริษัทโอเพคทาซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายผลไม้ เขามีห้องพักอาศัยแห่งหนึ่งบริเวณจัตุรัสแมร์เวเดอ (Merwedeplein) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เอดิทกับลูก ๆ มาถึงอัมสเตอร์ดัมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 จากนั้นเด็กหญิงทั้งสองจึงได้เข้าโรงเรียน มาร์กอทได้เข้าโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนอันเนอได้เข้าโรงเรียนแบบมอนเตสโซรี (Montessori) มาร์กอทมีความสามารถพิเศษด้านพีชคณิต ส่วนอันเนอชอบการอ่านและเขียนหนังสือ เพื่อนคนหนึ่งของเธอคือ ฮันเนอลี กอสลาร์ เล่าถึงเรื่องในวัยเด็กภายหลังว่า อันเนอมักเขียนหนังสืออยู่เสมอ เธอจะเอามือป้องบังงานของเธอเอาไว้และไม่ยอมพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับงานเขียนของเธอเลย มาร์กอทกับอันเนอมีบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด โดยที่มาร์กอทเป็นคนเรียบร้อย เก็บตัว ชอบศึกษาหาความรู้ ส่วนอันเนอเป็นคนช่างพูด กระตือรือร้น และชอบพบปะผู้คน
ในวันเกิดปีที่สิบสามของอันเนอ เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้รับของขวัญจากพ่อเป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเธอแสดงความประสงค์ต่อบิดาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มันเป็นสมุดวาดเขียนเปล่า ปกเป็นผ้าสีแดง-เขียว ผูกเงื่อนเล็ก ๆ ไว้ด้านหน้า อันเนอตัดสินใจว่าเธอจะใช้หนังสือนี้เป็นสมุดบันทึก และเริ่มต้นเขียนลงในสมุดนับแต่บัดนั้น เนื้อหาในช่วงต้น ๆ โดยมากเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วไปในชีวิตของเธอ แต่เธอก็ได้บันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์หลังจากเยอรมนีเข้าครอบครองไว้ด้วย ในบันทึกของเธอที่ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้บันทึกรายการข้อห้ามต่าง ๆ ที่บังคับใช้กับพลเมืองชาวดัตช์ที่เป็นยิว และได้บันทึกความเศร้าโศกในการเสียชีวิตของยายของเธอเมื่อช่วงต้นปีนั้น อันเนอใฝ่ฝันจะได้เป็นนักแสดง เธอชอบดูภาพยนตร์ แต่ชาวดัตช์เชื้อสายยิวถูกห้ามเข้าโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 8 มกราคม พ.ศ. 2484
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 มาร์กอท ฟรังค์ ได้รับจดหมายเรียกให้ไปรายงานตัวยังศูนย์กลางชาวยิวอพยพ เพื่อให้ย้ายที่อยู่ไปยังค่ายทำงาน ก่อนหน้านี้พ่อของอันเนอบอกเธอว่าครอบครัวจะต้องขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนห้องใต้หลังคาของที่ทำการบริษัทบนถนนปรินเซินครัคต์ (Prinsengracht) ที่ซึ่งพนักงานของออทโทที่เชื่อถือได้จำนวนหนึ่งจะให้การช่วยเหลือพวกเขา จดหมายเรียกตัวทำให้พวกเขาต้องรีบเร่งการซ่อนตัวเร็วกว่าที่คาดไว้หลายสัปดาห์
ชีวิตใน อัคเตอร์เฮอวส์
เช้าวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ครอบครัวฟรังค์ได้ย้ายไปยังที่หลบซ่อนตัว ห้องพักอาศัยเดิมของพวกเขาถูกทิ้งไว้ในสภาพยุ่งเหยิง ให้ดูเหมือนว่าพวกเขารีบเร่งจากไปในทันที ออทโท ฟรังค์ ทิ้งข้อความไว้ฉบับหนึ่งบอกเป็นนัยว่าพวกเขาได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องทิ้งโมร์เจอ (แมวของอันเนอ) เอาไว้เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาความลับ พวกยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเดินจากบ้านเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แต่ละคนสวมเสื้อผ้าซ้อนกันหลายชั้นเพราะพวกเขาไม่กล้าถือกระเป๋าเดินทางไปด้วย ที่ซ่อนของพวกเขาคือ อัคเตอร์เฮอวส์ [Achterhuis; เป็นคำภาษาดัตช์ หมายถึงพื้นที่ส่วนด้านหลังของบ้าน ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกที่ซ่อนนี้ว่า “ห้องลับ” (Secret Annexe)] เป็นพื้นที่ว่างสามชั้น เข้าได้จากชั้นพื้นดินของสำนักงานบริษัทโอเพคทา ภายในมีห้องเล็ก ๆ สองห้องบนชั้นที่หนึ่ง มีห้องอาบน้ำและห้องส้วมในตัว ชั้นบนเป็นห้องโล่งที่ใหญ่กว่า และมีห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งอยู่ด้านข้าง จากห้องเล็ก ๆ นี้มีบันไดทอดออกไปยังห้องใต้หลังคา ในเวลาต่อมาประตูทางเข้า อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบังไว้ด้วยตู้หนังสือ เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ถูกค้นพบ ส่วนตัวอาคารหลักตั้งอยู่ห่างจากโบสถ์แว็สเตอร์แกร์ก (Westerkerk) หนึ่งบล็อก ไม่มีการบรรยายถึง
ในบันทึกของอันเนอ เธอบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และความแตกต่างในบุคลิกภาพของพวกเขาทั้งหลาย เธอเห็นว่าตัวเองมีความรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อมากกว่าคนอื่น ๆ พ่อของเธอบอกภายหลังว่า “ผมเข้ากับอันเนอได้ดีกว่ามาร์กอทซึ่งมักจะติดแม่แจ อาจเป็นเพราะมาร์กอทไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของเธอออกมาเท่าไรนัก และดูเหมือนไม่ต้องการการสนับสนุนมากนัก เธอไม่ค่อยหัวเสียกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาเหมือนอย่างที่อันเนอเป็น” หลังจากมาซ่อนตัว อันเนอกับมาร์กอทก็สนิทกันยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้บางครั้งอันเนอจะรู้สึกอิจฉามาร์กอท เพราะสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านมักตำหนิเธอว่าไม่มีความอ่อนโยนสุภาพเหมือนอย่างพี่สาว แต่เมื่ออันเนอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สองสาวพี่น้องก็เข้ากันได้ดี ในบันทึกของเธอวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 อันเนอเขียนว่า “มาร์กอทดีขึ้นมาก พักหลังนี้เธอไม่ทำตัวเป็นแมวหง่าว และเริ่มเป็นเพื่อนจริง ๆ สักที เธอไม่มองฉันเป็นเด็กทารกอีกแล้ว”
เช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2487 อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบุกค้นโดยตำรวจเยอรมนี (Grüne Polizei) เนื่องจากมีผู้แจ้งเบาะแสนิรนาม ทีมจับกุมนำโดยคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ นายตำรวจซีแชร์ไฮท์สดีนสท์ (Sicherheitsdienst) พร้อมทั้งตำรวจอีกอย่างน้อย 3 นาย ครอบครัวฟรังค์ ครอบครัวฟัน แป็ลส์ และพเฟฟเฟอร์ ถูกนำตัวไปยังสำนักงานใหญ่เกสตาโป พวกเขาถูกไต่สวนและขังคุกไว้ที่นั่นหนึ่งคืน วันที่ 5 สิงหาคมพวกเขาถูกนำตัวไปยังเฮยส์ฟันเบวาริง (Huis van Bewaring) ซึ่งเป็นคุกแน่นขนัดที่เวเตอริงสคันส์ (Weteringschans) สองวันต่อมาพวกเขาถูกส่งไปยังแว็สเตอร์บอร์ก (Westerbork) ซึ่งเป็นค่ายส่งตัว มีชาวยิวนับแสนคนถูกส่งผ่านค่ายแห่งนี้ เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมได้ขณะหลบซ่อนตัว จึงโดนข้อหาเป็นอาชญากรและจะต้องถูกส่งไปยังค่ายลงทัณฑ์เพื่อเป็นแรงงานหนัก
อันเนอกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่รอดจากการสังหารหมู่ทันทีที่มาถึง ถูกบังคับให้เปลือยกายและฆ่าเชื้อ พวกเธอถูกจับโกนผมและสักหมายเลขประจำตัวไว้บนแขน ในเวลากลางวัน พวกผู้หญิงจะถูกใช้งานเป็นทาส อันเนอต้องทลายหินและขุดพื้น เมื่อตกกลางคืนพวกเขาต้องเบียดเสียดกันอยู่ในคุกแคบ ๆ พยานหลายคนให้ปากคำในภายหลังว่า อันเนอจะหวาดผวาและร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นเด็ก ๆ ถูกนำตัวไปยังห้องรมแก๊ส แต่ก็มีพยานอีกหลายคนบอกว่าบางครั้งเธอก็แสดงความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ความอารีและธรรมชาติความเป็นผู้นำในตัวเธอทำให้เธอมักได้รับส่วนแบ่งขนมปังเพิ่มขึ้นสำหรับให้เอดิท มาร์กอท และตัวเธอเอง ในค่ายสกปรกมาก ไม่ช้าเชื้อโรคก็แพร่ระบาด ผิวของอันเนอติดเชื้อหิดอย่างรุนแรง เธอกับมาร์กอทถูกแยกไปห้องผู้ป่วย ที่ซึ่งมีแต่ความมืดสลัวตลอดเวลา และเป็นที่อยู่ของหนู เอดิท ฟรังค์ เลิกกินอาหารส่วนของตน แต่เก็บเอาไว้เพื่อส่งไปให้ลูกสาวทั้งสอง โดยส่งผ่านรูเล็ก ๆ ที่เธอแอบเจาะไว้ทางด้านหลังกำแพงห้องผู้ป่วย
หลังจากสิ้นสุดสงคราม ประมาณว่ามีชาวยิวถูกเนรเทศจากเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2487 ประมาณ 107,000 คน ในจำนวนนี้รอดชีวิตมาได้เพียง 5,000 คน ส่วนชาวยิวที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีประมาณ 30,000 คน โดยความช่วยเหลือของขบวนการใต้ดินชาวดัตช์ และรอดชีวิตมาจนถึงหลังสงครามได้ประมาณสองในสามส่วน
ออทโท ฟรังค์ รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ หลังสงคราม เขากลับไปยังอัมสเตอร์ดัมและได้อาศัยพำนักอยู่กับยันและมีป คีส เพื่อติดตามค้นหาครอบครัวของเขา เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาแล้วตั้งแต่อยู่ที่เอาชวิทซ์ แต่ก็ยังมีความหวังว่าลูกสาวทั้งสองน่าจะรอดชีวิต หลังจากค้นหาอยู่หลายสัปดาห์เขาจึงได้ทราบว่า มาร์กอทและอันเนอเสียชีวิตแล้ว เขาติดตามสอบถามข่าวชะตากรรมของบรรดาสหายของบุตรสาวด้วย และได้ทราบว่าพวกเขาถูกสังหารจนหมด ซูซันเนอ เลเดอร์มันน์ เป็นหนึ่งในชื่อสหายที่ปรากฏบ่อยครั้งอยู่ในสมุดบันทึกของอันเนอ เธอถูกรมแก๊สเสียชีวิตพร้อมกับพ่อแม่ แต่บาร์บารา พี่สาวของซูซันเนอและเพื่อนสนิทของมาร์กอท รอดชีวิต ยังมีเพื่อนร่วมโรงเรียนของพี่น้องฟรังค์อีกหลายคนที่รอดชีวิต เช่นเดียวกับญาติ ๆ อีกหลายคนของทั้งออทโทและเอดิท ฟรังค์ ที่หนีออกจากเยอรมนีในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 บางคนไปตั้งรกรากอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
Comments are closed