โอดะ โนบุนากะ ไดเมียวแห่งยุคเซงโงกุ จอมมารฟ้าขุนพลผู้รวบรวมแผ่นดิน
ประวัติของโอดะ โนบุนากะ ต้องมองย้อนไปถึงเกิดเมื่อปี ค.ศ.1534 ที่ปราสาทนะโงยะ ชื่อเดิมคือ คิปโปชิ ตามครอบครัวเค้าเป็นบุตรชายคนที่สองของ โอดะ โนบุฮิเดะ ไดเมมียแห่งแคว้านโอะวะริ (ปัจจุบันคือพื้นที่ในจังหวัดไอจิ) ตามศักดิ์แล้วแม้จะเป็นบุตรคนรองแต่เกิดกับภรรยาหลวง ทำให้เค้ามีหน้าที่สืบสมบัติจากพ่อซึ่งเป็นไดเมียวตามธรรมเนียม ตอนเด็ก คิปโปชิ ต้องบอกว่ามีแนวคิดค่อนข้างจะแตกต่างจากเด็กคนอื่นพอสมควร แม้จะได้รับการสั่งสอนจากอาจารย์ที่ชื่อว่า ฮิระเตะ มะซะฮิเดะ ชายผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของไดเมียวที่ไว้วางใจที่สุดก็ตาม แต่โนบุนากะในตอนนั้นก็เด็กเกินกว่าจะเข้าใจอะไรได้ ทำให้ตัวเค้าเองแสดงกิริยาอาการที่ไม่ดีหลายครั้ง จนอาจารย์ต้องฆ่าตัวตายเพื่อชดใช้ความผิดดังกล่าว ทำให้โนบุนากะเสียใจมาก
โนบูนางะเป็นผู้นำตระกูลโอดะที่ทรงอำนาจมาก และเปิดฉากการทำสงครามกับไดเมียวคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นในคริสต์ทศวรรษ 1560 โนบูนางะกลายเป็นไดเมียวที่ทรงอำนาจมากที่สุด ทำการโค่นล้มโชกุน อาชิกางะ โยชิอากิ ซึ่งมีอำนาจเพียงแต่ในนาม และทำการยุบรัฐบาลโชกุนอาชิกางะในปี ค.ศ. 1573 เขาได้พิชิตเกาะฮอนชูเอาไว้เกือบทั้งหมดในปี ค.ศ. 1580 และเอาชนะพวกกบฏอิกโก อิกกิ ในคริสต์ทศวรรษ 1580 การปกครองของโนบูนางะเป็นที่รู้จักกันในด้านยุทธวิธีทางทหารที่นำสิ่งใหม่เข้ามา การส่งเสริมการค้าเสรี การปฏิรูปรัฐบาลพลเรือนของญี่ปุ่น และจุดเริ่มต้นของยุคสมัยศิลปะทางประวัติศาสตร์ โมโมยามะ แต่ยังคงเป็นการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้ที่ไม่ยอมให้ความร่วมหรือยอมทำตามคำเรียกร้องของเขา โนบูนางะถูกสังหารในเหตุการณ์วัดฮนโนจิในปี ค.ศ. 1582 เมื่อผู้ติดตามรับใช้ของเขาที่ชื่อว่า อาเกจิ มิตสึฮิเดะ ทำการลอบโจมตีเขาในเกียวโตและบีบบังคับให้เขากระทำด้วยเซ็ปปูกุ โนบูนางะได้รับสืบทอดอำนาจโดยโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ที่ได้ร่วมมือกับโทกูงาวะ อิเอยาซุในการทำสงครามการรวมชาติของเขาจนสำเร็จภายหลังจากนั้นได้ไม่นาน
โนบูนางะเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามผู้รวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ร่วมกับผู้ติดตามรับใช้ของเขาอย่างโทโยโตมิ ฮิเดโยชิและโทกูงาวะ อิเอยาซุ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ภายหลังรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งในปี ค.ศ. 1591 และทำการรุกรานเกาหลีในปีต่อมา อย่างไรก็ตาม เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1598 และโทกูงาวะ อิเอยาซุได้เข้ายึดอำนาจภายหลังจากยุทธการที่เซกิงาฮาระ ในปี ค.ศ. 1600 กลายเป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1603 และเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัยเซ็งโงกุ
วัยเยาว์และการสืบทอดแคว้นโอวาริ
ในฐานะที่เป็นบุตรคนโตสุดที่เกิดกับภรรยาเอก ทำให้คิปโปชิเป็นอันดับหนึ่งในการสืบทอดแคว้นโอวาริต่อจากโนบูฮิเดะบิดาของตน ซึ่งได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาคนสนิทของตนคือ ฮิราเตะ มาซาฮิเดะ เป็นอาจารย์คอยฝึกวิชาความรู้ให้แก่คิปโปชิ แต่ว่าคิปโปชิกลับมีพฤติกรรมที่ประหลาด เอาแต่ใจตนเอง และไม่อยู่ในกรอบประเพณี ทำให้เป็นที่ไม่พอใจของบรรดาซามูไรหรือข้ารับใช้ของตระกูลโอดะ รวมทั้งมารดาของคิปโปชิเอง จนทำให้คิปโปชิมีชื่อกระฉ่อนไปทั่วภูมิภาคคันไซว่า “เจ้าโง่แห่งแคว้นโอวาริ” แต่ด้วยการสนับสนุนของบิดาและมาซาฮิเดะผู้เป็นอาจารย์ ทำให้คิปโปชิยังคงสถานะเป็นทายาทของตระกูลโอดะอยู่ได้
ในเวลานั้นตระกูลโอดะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากแคว้นข้างเคียงที่ทรงกำลังอำนาจ อันได้แก่ ตระกูลอิมางาวะ ผู้ปกครองสามแคว้นทางตะวันออกของโอวาริ (ในบริเวณจังหวัดชิซูโอกะในปัจจุบัน) และตระกูลไซโต ผู้ปกครองแคว้นมิโนะ (จังหวัดกิฟุในปัจจุบัน) ทางตอนเหนือ ในค.ศ. 1546 เมื่ออายุสิบสองปี คิปโปชิผ่านพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า โอดะ โนบูนางะ โนบูฮิเดะบิดาร่วมกับมาซาฮิเดะผูกสัมพันธ์กับตระกูลไซโตแห่งแคว้นมิโนะ โดยการส่งมาซาฮิเดะเดินทางไปสู่ขอนางโน-ฮิเมะ บุตรสาวของไซโต โดซัง ไดเมียวผู้ปกครองแคว้นมิโนะ มาเป็นภรรยาของโนบูนางะ
นอกจากนี้โนบูนางะยังได้มีโอกาสได้สัมผัสกับอาวุธชนิดใหม่ในขณะนั้น คือ ปืน ซึ่งผลิตและนำเข้าโดยชาวโปรตุเกสที่เกาะทาเนงาชิมะ ทางตอนใต้ของเกาะคีวชู
ในค.ศ. 1551 โนะบุฮิเดะผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรม โนบูนางะได้อาละวาดกลางงานศพของบิดาของตน ทำให้บรรดาข้ารับใช้ของตระกูลโอะดะไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และทำให้มาซาฮิเดะรู้สึกผิดอย่างมากที่ทำการสั่งสอนโนบูนางะไม่ดีพอ จึงกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตเพื่อชดใช้ความผิด เหตุการณ์นี้ทำให้โนบูนางะเสียใจอย่างมาก เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งไดเมียวแห่งโอวาริ โนบูนางะยังคงอ่อนด้อยประสบการณ์ ทำให้การปกครองของแคว้นตกอยู่ในมือของโอดะ โนบูโตโมะ ผู้ซึ่งมาจากสาขาย่อยของตระกูลโอดะและเป็นผู้ปกครองปราสาทคิโยซู ในค.ศ. 1554 ชิบะ โยชิมูเนะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นชูโงแห่งแคว้นโอวาริ (ได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลโชกุนมูโรมาจิ) ทราบว่าโนบูโตโมะวางแผนลอบสังหารโนบูนางะ จึงนำความมาบอกแก่โนบูนางะ เมื่อโนบูโตโมะทราบว่าแผนของตนรั่วไหลจึงสังหารโยชิมูเนะไป แต่ในปีต่อมาค.ศ. 1555 โนบูนางะได้ชิงลงมือทำการลอบสังหารโนบูโตโมะเสียก่อนที่ปราสาทคิโยซู
ปีต่อมาค.ศ. 1556 ไซโต โยชิตะสึ ทำการก่อกบฏต่อบิดาของตนคือไซโตโดซัง ไซโตโดซังขอให้โนบูนางะผู้เป็นลูกเขยยกทัพเข้าไปยังแคว้นมิโนะเพื่อช่วยเหลือตนแต่ไม่ทันการ โดซังถูกสังหารในที่รบและโยชิตะสึจึงขึ้นเป็นไดเมียวแห่งมิโนะคนใหม่ ในปีเดียวกันนั้นเองน้องชายของโนบูนางะคือ โอดะ โนบูยูกิ ก่อกบฏหมายจะขึ้นเป็นผู้นำตระกูลโอดะด้วยการสนับสนุนของชิบาตะ คัตซูอิเอะ ฮายาชิ ฮิเดซาดะ รวมทั้งมารดาของโนบูนางะเอง โนบูนางะสามารถเอาชนะทัพของน้องชายตนเองได้ในยุทธการอิโนะ โนบูนางะไว้ชีวิตขุนพลทั้งสองแต่ต้องการที่จะสังหารโนบูยูกิน้องชาย แต่ด้วยการร้องขอของมารดาโนบูนางะจึงได้ไว้ชีวิตโนบูยูกิ ปรากฏว่าในปีต่อมาค.ศ. 1557 โนบูยูกิวางแผนยึดอำนาจอีกครั้ง โนบูนางะจึงแสร้งป่วยเพื่อให้โนบูยูกิมาเยี่ยมตนที่ปราสาทคิโยซู จากนั้นจึงได้สังหารโนบูยูกิทิ้ง
ยุทธการโอะเกะฮะซะมะ
ในค.ศ. 1561 อิมางาวะ โยชิโมโตะ ไดเมียวผู้ทะเยอทะยานแห่งตระกูลอิมางาวะซึ่งปกครองดินแดนทางตะวันออกของโอวสริ ต้องการที่จะยกทัพไปยึดอำนาจยังเมืองเกียวโต ซึ่งเส้นทางเดินทัพจะต้องผ่านแคว้นโอวาริ ขุนพลคนสำคัญทั้งหลายแห่งตระกูลโอดะต่างมีความเห็นว่าตระกูลอิมางาวะมีกำลังอำนาจควรจะปล่อยให้เดินทัพผ่านโอวาริไปโดยสวัสดิภาพ แต่โนบูนางะยืนกรานที่จะเข้าขัดขวางทัพของโยชิโมโตะ โดยทัพของโยชิโมโตะมีทหารกว่า 40,000 คน ขณะที่ทัพของโนบูนางะมีทหารเพียง 5,000 คน แต่โนบูนางะจึงคิดว่าถ้าจะสู้ให้ชนะก็ต้องจัดการกับตัวบงการก็คือทัพที่โยชิโมโตะอยู่นั่นเอง และในวันนั้นเองนับว่าโชคดีเป็นอย่างมากที่ฝนตก เพราะง่ายต่อการควบคุมคนจำนวนน้อยและยากต่อการควบคุมทัพขนาดใหญ่ ในระหว่างที่ทัพของโยชิโมโตะกำลังพักอยู่นั้นโนบูนางะใช้ทหารจำนวนกว่า 2,000 คนเท่านั้นบุกโจมตีทัพหลักอย่างไม่ทันตั้งตัว ในยุทธการโอะเกะฮะซะมะ เป็นเหตุให้โยชิโมโตะถูกสังหาร เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้โนบูนางะมีชื่อเสียงไปทั่วญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเพียงแค่ไดเมียวของแคว้นเล็กแต่สามารถยับยั้งการยึดอำนาจของไดเมียวผู้ทรงอำนาจอย่างอิมางาวะ โยชิโมโตะได้
ปีต่อมาค.ศ. 1561 ไซโต โยชิตะสึ ไดเมียวแห่งมิโนะถึงแก่กรรม ไซโต ทัตสึโอกิ ผู้เป็นบุตรชายอายุเพียงสิบสี่ปีและไร้ความสามารถขึ้นเป็นไดเมียวแห่งมิโนะคนต่อมา โนบูนางะเห็นเป็นโอกาสจึงนำทัพเข้ารุกรานแคว้นมิโนะ จนสามารถเข้ายึดปราสาทอินาบายามะ อันเป็นที่มั่นของตระกูลไซโตได้ในค.ศ. 1567 ทำให้โนบูนางะสามารถเข้าครอบครองแคว้นมิโนะได้ แล้วจึงเปลี่ยนชื่อปราสาทใหม่เป็น ปราสาทกิฟุ จังหวัดกิฟุในปัจจุบัน โนบูนางะพำนักที่ปราสาทกิฟุ และประกาศนโยบายรวบรวมญี่ปุ่นที่แตกแยกออกเป็นแคว้นต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของตน พร้อมคติพจน์ที่ว่า เท็งกะ ฟูบุ แปลว่า ปกครองแผ่นดินด้วยการทหาร
เส้นทางสู่เกียวโต
กล่าวถึงเหตุการณ์ในเมืองเกียวโต รัฐบาลโชกุนอะชิกะงะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลมิโยะชิ ค.ศ. 1565 โชกุนอะชิกะงะ โยะชิเตะรุ ได้ถูกสองขุนพลได้แก่ มะซึนะงะ ฮิซะฮิเดะ และมิโยะชิ โยะชิซึงุ ยกทัพมาสังหารยังที่พัก โนะบุนะงะพำนักอยู่ที่ปราสาทกิฟุได้หนึ่งปี จนกระทั่งในค.ศ. 1568 อะชิกะงะ โยะชิอะกิ ผู้เป็นน้องชายของโชกุนโยะชิเตะรุได้ร้องขอให้โนะบุนะงะยกทัพไปยังเกียวโตเพื่อทำการแก้แค้นให้แก่พี่ชายของตนโดยการสังหารขุนพลทั้งสอง
โนะบุนะงะจึงเตรียมการยกทัพไปยึดเมืองเกียวโต แต่เส้นทางเดินทัพไปยังเกียวโตต้องผ่านแคว้นโอมิ จังหวัดชิงะในปัจจุบัน ซึ่งมีไดเมียวตระกูลรกกะกุ ปกครองอยู่และปฏิเสธที่จะให้ทัพของโนะบุนะงะผ่านแคว้นของตน โนะบุนะงะจึงทำสงครามกับตระกูลรกกะกุและสามารถเอาชนะและกำจัดตระกูลรกกะกุออกไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเดินทัพสามารถเข้ายึดเมืองเกียวโตได้ในฤดูหนาวค.ศ. 1568 ฮิซะฮิเดะและตระกูลมิโยะชิเข้าสวามิภักดิ์ต่อโนะบุนะงะ โนะบุนะงะจึงตั้งให้โยะชิอะกิเป็นโชกุนคนใหม่เพื่อที่จะเป็นหุ่นเชิดของตน จากความดีความชอบในการช่วยเหลือโชกุนโยะชิอะกิในครั้งนี้โนะบุนะงะได้รับข้อเสนอเป็นตำแหน่งในราชสำนักเกียวโตและในบะกุฟุซึ่งโนะบุนะงะปฏิเสธไปทั้งหมด และมีความเห็นว่าการเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังที่แท้จริงนั้นสำคัญกว่าตำแหน่งทางพิธีการ
รวมอำนาจในภูมิภาคคันไซ
แต่ทว่าโชกุนโยะชิอะกิไม่พอใจการที่ตนตกอยู่ภายใต้อำนาจของโนะบุนะงะ และต้องการที่จะมีอำนาจเต็มในการปกครอง จึงได้ร้องขอไปยังอะซะกุระ โยะชิกะเงะ ไดเมียวแห่งแคว้นเอะจิเซง (จังหวัดฟุกุอิในปัจจุบัน) ให้ยกทัพมาขับไล่โนะบุนะงะออกจากเกียวโตและคืนอำนาจให้แก่โชกุน ความทราบถึงโนะบุนะงะ จึงส่งฮะชิบะ ฮิเดะโยะชิ (ต่อมาคือ โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ) นำทัพเข้าบุกแคว้นเอะจิเซงและเอาชนะตระกูลอะซะกุระได้ในยุทธการคะเนะงะซะกิ ค.ศ. 1570
กล่าวถึงตระกูลอะซะกุระ มีพันธมิตรสำคัญเป็นตระกูลอะซะอิแห่งแคว้นโอมิ ซึ่งขณะนั้นมีผู้นำคือไดเมียวอะซะอิ นะงะมะซะ ผู้เป็นน้องเขยของโนะบุนะงะเนื่องจากนะงะมะซะได้สมรสกับนางโออิจิ ผู้เป็นน้องสาวของโนะบุนะงะ โนะบุนะงะคาดหวังว่านะงะมะซะจะเห็นแก่นางโออิจิไม่มาทำสงครามกับตน แต่นะงะมะซะเห็นแก่พันธมิตรกับตระกูลอะซะกุระจึงเข้าช่วยตระกูลอะซะกุระในการสงครามกับโนะบุนะงะ โนะบุนะงะสามารถเอาชนะทัพของทั้งสองตระกูลได้ในยุทธการอะเนะงะวะ อีกสามปีต่อมา ค.ศ. 1573 โนะบุนะงะนำทัพเข้าล้อมปราสาทฮิกิดะ ของโยะชิกะเงะ และปราสาทโอะดะนิ ของนะงะมะซะ และโนะบุนะงะสามารถเข้ายึดปราสาททั้งสองได้ในที่สุด โยะชิกะเงะหลบหนีไปยังปราสาทอิชิโจดะนิ ส่วนนะงะมะซะกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต โนะบุนะงะยกทัพตามไปปิดล้อมปราสาทอิชิโจดะนิ จนกระทั่งเข้ายึดปราสาทได้ และโยะชิกะเงะกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปเช่นเดียวกับนะงะมะซะ
นอกจากนี้ โนะบุนะงะยังทำการปราบปรามกบฏอิกโก อิกกิ อันเป็นการรวมตัวกันของพระสงฆ์และชาวบ้านท้องถิ่นเพื่อต่อต้านการปกครองของชนชั้นซะมุไร มีฐานที่มั่นอยู่ที่วัดฮงงัง บนเขาอิชิยะมะ เมืองโอซะกะในปัจจุบัน ในค.ศ. 1570 โนะบุนะงะยกทัพเข้าทำการปิดล้อมเขาอิชิยะมะแต่ถูกทัพของอิกโก-อิกกิขับไล่ออกไปได้ ปีต่อมาค.ศ. 1571 โนะบุนะงะยกทัพเข้าโจมตีเมืองนะงะชิมะ จังหวัดมิเอะในปัจจุบัน อันเป็นฐานที่มั่นอีกแห่งหนึ่งของอิกโก-อิกกิ หลังการโจมตีหลายครั้งในที่สุดเมืองนะงะชิมะก็เสียให้แก่โนะบุนะงะในค.ศ. 1574 ในค.ศ. 1576 โนะบุนะงะยกทัพเข้าทำการปิดล้อมเขาอิชิยะมะอีกครั้ง จนกระทั่งโนะบุนะงะสามารถเข้ายึดวัดฮงงังบนเขาอิชิยะมะได้ในค.ศ. 1580 หลังจากการปิดล้อมอยู่นานถึงสี่ปี เป็นการปิดล้อมครั้งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กบฏอิกโก-อิกกิจึงถูกปราบลงได้สำเร็จ
รวมทั้งโนะบุนะงะยังได้ทำการปราบโซเฮ หรือพระนักรบ อันเป็นกองกำลังทหารที่สำคัญในภูมิภาคคันไซมาแต่ยุคเฮอัง มีฐานที่มั่นที่วัดเองยะกุ บนเขาฮิเอะอิ จังหวัดชิงะในปัจจุบัน เนื่องจากโซเฮได้ให้การสนับสนุนแก่ตระกูลอะซะกุระและตระกูลอะซะอิในการต่อต้านโนะบุนะงะ ในค.ศ. 1571 โนะบุนะงะเข้ายึดเขาฮิเอะอิ ทำการกวาดล้างพระนักรบไปจนหมดสิ้น และในค.ศ. 1573 โนะบุนะงะทำการปลดโชกุนอะชิกะงะ โยะชิอะกิ ออกจากตำแหน่ง ล้มเลิกระบอบการปกครองของโชกุน เป็นการสิ้นสุดรัฐบาลโชกุนมุโระมะชิที่มีมายาวนานถึงสองร้อยกว่าปี
รวมอำนาจในภูมิภาคตะวันออก
อาณาเขตภายใต้การปกครองของโอะดะ โนะบุนะงะ เมื่อถึงแก่กรรมค.ศ. 1582
หลังจากที่โนะบุนะงะวางรากฐานอำนาจในเมืองเกียวโตภูมิภาคคันไซได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงหันความสนใจไปทางตะวันออก ในขณะนั้นภาคตะวันออกของญี่ปุ่นมีไดเมียวผู้ทรงอำนาจสองคนกำลังแย่งชิงความเป็นใหญ่ได้แก่ ทะเกะดะ ชิงเง็น ไดเมียวแห่งแคว้นคะอิ จังหวัดยะมะนะชิในปัจจุบัน และอุเอะซุงิ เค็งชิง ไดเมียวแห่งแคว้นเอะจิโงะ จังหวัดนิอิงะตะในปัจจุบัน ในค.ศ. 1572 โชกุนโยะชิอะกิได้ร้องขอให้ทะเกะดะชิงเง็นช่วยปราบโนะบุนะงะ ชิงเง็นจึงยกทัพเข้ารุกรานแคว้นโทะโตะมิ อันเป็นดินแดนของโทะกุงะวะ อิเอะยะซุ โนะบุนะงะจึงส่งอิเอะยะซุไปทำการปราบทะเกะดะชิงเง็๋น ปรากฏว่าประสบกับความพ่ายแพ้ราบคาบต่อตระกูลทะเกะดะในยุทธการมิกะตะงะฮะระ แต่โชคก็เข้าข้างโนะบุนะงะเมื่อชิงเง็นได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในปีต่อมาค.ศ. 1573 ทะเกะดะ คะซึโยะริ ไดเมียวแห่งคะอิคนใหม่ยังอายุน้อยขาดประสบการณ์ ได้ยกทัพตระกูลทะเกะดะเข้าปิดล้อมปราสาทนะงะชิโนะ ของตระกูลโทะกุงะวะในค.ศ. 1575 แต่พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในยุทธการนะงะชิโนะ
Comments are closed