เจ้าพระยายมราช
นามเดิมของท่านคือ ปั้น สุขุม เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 ท่านเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านเจ้าพระยายมราช ควบคุมการก่อสร้างงานต่างๆมากมาย เช่น การปะปานครหลวง การไฟฟ้ามหานคร ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทาน ตำแหน่งมหาอำมาตย์นายก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก และไม่มีผู้ใดได้รับพระราชทานอีกเลย ครั้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องด้วยทรงพระเยาว์ สภาผู้แทนราษฏรจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีเจ้าพระยายมราช เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยท่านหนึ่ง ท่านได้ปฎิบัติภารกิจต่างๆมากมายเป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็น “รัฐบุรุษ” ที่สำคัญท่านหนึ่งของไทย *
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช นามเดิม ปั้น ต้นสกุลสุขุม 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทั้งยังเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง การประปานครหลวง การไฟฟ้ามหานคร ถนนและสะพานในกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ประวัติ
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 ที่บ้านยะมะรัชโช จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นคหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลบ้านน้ำตก ริมแม่น้ำฟากตะวันออก ด้านใต้จากตัวเมืองสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของนายกลั่น และนางผึ้ง
ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา (รวมตัวท่านด้วย) จำนวน 6 คน ดังนี้
หลวงเทพสุภา (ฉาย สุขุม)
นิล สุวรรณศร สมรสกับ หลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร)
พระยาสมบัติภิรมย์ (หมี สุขุม)
คล้ำ ธูสรานนท์
หยา สังข์พิชัย สมรสกับ หลวงจ่าเมือง (สิน สังข์พิชัย)
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีบทบาทหลายประการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จนถูกเรียกว่าเป็นรัฐบุรุษ 4 แผ่นดิน ท่านเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมายตั้งแต่การเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล การเป็นอภิรัฐมนตรี และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เกิด ณ ตำบลบ้านตก (รั้วใหญ่) ริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 ในตระกูลคฤหบดีที่มีฐานะดี มีบิดาชื่อนายกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 3 หญิง 2 โดยปั้นเป็นบุตรคนสุดท้อง พี่น้องของปั้นทุกคนล้วนแต่จะมี บทบาทสำคัญในด้านการปกครองหรือการบริหารราชการแผ่นดินด้วยกันทั้งสิ้น เช่น การได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่พี่สาวทั้งสองคนที่แม้จะไม่ได้เป็นนักปกครองโดยตรง แต่ก็ได้แต่งงานเป็นภรรยาของ กรมการเมืองซึ่งย่อมมีชีวิตที่คลุกคลีกับข้าราชการฝ่ายปกครองอยู่ตลอดเวลา
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเด็กชายปั้นเกิดในตระกูลคฤหบดี จึงทำให้เขาได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในครอบครัวอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับพี่ๆ ร่วมบิดามารดากันแล้ว ในสายตาของคนอื่นจะมีความรู้สึกว่าเขาได้รับการเอาใจใส่จากบิดามาราดาน้อยกว่าพี่ๆ ดังที่สมเด็กพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง เกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคน จนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อเป็นเด็กจึงมิใคร่มีใครเอาใจนำพานัก”
เมื่ออายุได้ 5 ขวบ บิดาได้นำเด็กชายปั้นไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูสาร ตำบลรั้วใหญ่ ในเมืองสุพรรณบุรี ทั้งนี้เพราะใน สมัยนั้นสถาบันการศึกษามีอยู่เพียง 2 แห่ง คือ วัด กับ วัง เมื่อเรียนอยู่ที่วัดประตูสารนี้ได้ประมาณ 1 ปี อายุย่างเข้าปีที่ 6 ก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยบิดามารดาได้มอบถวายให้แก่พระใบฎีกาอ่วม แห่งวัดหงส์รัตนาราม อำเภอบางกอกน้อย ธนบุรี เพื่อฝากฝังให้เป็นศิษย์ติดตามเรียนหนังสือด้วย คนทั่วไปจึงพูดว่าเป็นเด็ก “ใส่กัณฑ์เทศน์”
หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 13 ปี บิดามารดาได้รับกลับไปบ้านที่สุพรรณบุรีเพื่อทำพิธีโกนจุก เสร็จแล้วก็กลับพามาอยู่ที่วัดหงส์รัตนารามตามเดิม เมื่ออายุได้ 14 ปี ท่านอาจารย์พระใบฎีกาอ่วมได้ให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาปริยัติธรรม เมื่ออายุได้ 21 ปี ครบอุปสมบทแล้ว พระใบฎีกาอ่วมก็จัดการให้อุปสมบทที่วัดหงส์รัตนาราม โดยนิมนต์ สมเด็จพระวันรัตมาเป็นพระอุปัชฌายะ ซึ่งพระภิกษุปั้นได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบได้เปรียญ 3 ประโยคจนคนทั่วไปเรียกว่า “พระมหาปั้น”
ในส่วนของการสมรสนั้น เมื่อต่อมานายปั้นได้รับราชการและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนวิจิตรวรสาส์น” เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศมาอยู่ที่ประเทศไทยได้ประมาณสองเดือน ขุนวิจิตรวรสาส์นก็ปรารภกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงว่าอยากแต่งงานกับนางสาวตลับ ธิดาคนโตของพระยาชัยวิชิต ซึ่งพระมารดาของสมเด็จฯ ได้ทรงทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอนางสาวตลับให้จนบิดาของฝ่ายหญิงยอมตกลงและได้เข้าสู่พิธีมงคลสมรสในเวลาต่อมา
เจ้าพระยายมราชหรือนายปั้นได้มีบุตรธิดาที่เกิดแต่ท่านผู้หญิงตลับ ยมราช รวมทั้งหมด 10 คน คือ
- พระยาสุขุมนัยวินิต (สวาสดิ์ สุขุม)
- คุณไสว สุขุม
- คุณแปลก สุขุม
- หลวงพิสิษฐ์สุขุมการ (ประพาส สุขุม)
- พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม)
- คุณประสาท สุขุม
- หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม)
- คุณประวัติ สุขุม
- คุณเล็ก สุขุม
- คุณหญิงประจวบ สุขุม
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
ในระหว่างที่บรรพชาอุปสมบทอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม พระมหาปั้นได้รู้จักคุ้นเคยกับเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ เช่น หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยน ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และหม่อมราชวงศ์หญิงเขียน หลานกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทั้งสองท่านนี้มีบ้านอยู่ใกล้วัดจึงได้ไปทำบุญที่วัดนั้นหลายครั้งและได้รู้จักกับ พระมหาปั้นตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ก็รู้สึกเอ็นดูรับเป็นโยมอุปการะมาโดยตลอดจนเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ด้วย ส่วนอีกพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงรู้จักคุ้นเคยกับ พระมหาปั้น ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นกำลังใจให้มหาปั้นในการสอบเข้าเปรียญสนามหลวงและเมื่อลาสิกขาแล้วก็ทรงส่งเสริมให้ได้รับราชการอีกด้วย
ในที่สุดพระมหาปั้นก็ลาสิกขา จากเพศบรรพชิตมาเป็นฆราวาส เมื่อเดือน 8 ปี พ.ศ. 2426 และพอลาสิกขาเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางติดตามสมเด็กพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเพื่อไปปรนนิบัติรับใช้ ระหว่างที่สมเด็จท่านทรงผนวช และอยู่ประจำที่วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลาสิกขาแล้ว จึงทรงนำปั้นเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก โดยเริ่มต้นที่การเป็นครูฝึกหัดใน โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่มหาปั้นเข้ารับราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2426 อายุได้ 22 ปี
ในเวลาต่อมาปั้นได้รับเลือกให้เป็นครูประจำชั้นถวายพระอักษรพระองค์เจ้าสำคัญหลายพระองค์ซึ่งเป็นทีพอพระทัยของกรมพระยาดำรงราชานุภาพอย่างมาก ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนำชื่อมหาปั้นไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดที่จะเดินทางไปอยู่กับพระเจ้าลูกยาเธอที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ “นายปั้น เปรียญ” เป็น “ขุนวิจิตรวรสาส์น” มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ์แผนกครู จึงทำให้ปั้นได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ที่ขุนวิจิตรวรสาส์นได้ถวายความดูแล คือ
- พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาท)
- พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ)
- พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจีณกิติบดี)
- พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีวรเดช)
ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งทรงเอ็นดูและชมชอบขุนวิจิตรวรสาส์นอยู่แล้ว ได้ทรงสนับสนุนให้โอนมารับราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยทรงกราบบังคมทูลขอให้ขุนวิจิตรวรสาส์นมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และได้เลื่อนขั้นมาเรื่อยๆ จนต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิจิตรวรสาส์น
ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอให้พระวิจิตรวรสาส์นไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งเลขานุการเสนาบดี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้และได้เห็นผลงานการพัฒนาบ้านเมืองของพระวิจิตรวรสาส์นซึ่งประจำการเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจการอยู่ที่นั่น จึงทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก เมื่อเสด็จกลับพระนครจึงโปรดฯให้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ให้ดำรงตำแหน่ง “ข้าหลวงเทศาภิบาล” ประจำมลฑลนครศรีธรรมราชด้วย
พระยาสุขุมนัยวินิตปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีจนเป็นที่พอพระทัยเป็นอย่างมาก จนต่อมาได้ไปดำรงตำแหน่งเป็นทั้งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และได้เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น “เจ้าพระยา” ในเวลาต่อมา
ภายหลังพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่_7 เจ้าพระยายมราชจึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากทำงานมาอย่างยาวนานและเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว หลังจากออกจากราชการแล้วเจ้าพระยายมราชก็ยังคงทำงานด้านสังคมหรือด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และในภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยสภาองคมนตรี เจ้าพระยายมราชก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการเลือกสรรให้เข้าไปทำงานในคณะกรรมการสภาองคมนตรีเพื่อทำหน้าที่ถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งเจ้าพระยายมราชก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เช่นกัน
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
นอกจากเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆในระบบราชการ และการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ตลอดช่วงเวลาของการทำงานในชีวิตราชการของเจ้าพระยายมราชนั้นได้สร้างผลงานสำคัญไว้หลายประการ ตั้งแต่เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นคนแรกในตำแหน่งพระยาสุขุมนัยพินิต ได้สร้างผลงานในการพัฒนาปรับปรุงระเบียบการปกครองเจ็ดหัวเมืองภาคใต้อย่างยอดเยี่ยม จนต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามลำดับ ผลงานของการกลับมารับราชการในส่วนกลางนั้นมีตั้งแต่การเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างประปาพระนคร ไฟฟ้านครหลวง ผู้อำนวยการสร้างถนน และสะพานหลายแห่ง ร่วมทั้งพระที่นั่งอนันตสมาคมอันงดงาม
ในช่วงท้ายของชีวิตเจ้าพระยายมราชได้ล้มป่วยลงด้วยโรคปอดอักเสบ และอาการทรุดหนักลงจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ด้วยอาการสงบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าพระยายมราชจึงโปรดเกล้าฯให้ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำอาบศพ ณ บ้านของเจ้าพระยายมราช และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่ศพเมื่อวันครบสัตมวาร (ทำบุญ 7 วัน) ด้วยพระองค์เอง
Comments are closed