สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. และเป็นองค์ต้นราชสกุลดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารและพลเรือน เช่น เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ (ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี) องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร นายกราชบัณฑิตยสภา องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และอภิรัฐมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านการศึกษา การปกครอง การต่างประเทศ การสาธารณสุข หลักรัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” และ “พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย” ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ที่ประชุมใหญ่ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศถวายสดุดีให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย และวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็นวันดำรงราชานุภาพ กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการถวายความรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย
ประสูติ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (อ่านว่า ดิด-สะ-วอ-ระ-กุ-มาร) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์เดียวที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 ชาววังออกพระนามโดยลำลองว่า “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร หรือ เสด็จพระองค์ดิศ” พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบิดาในวันสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ โดยมีรายละเอียดว่า
“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ สิ้นกาลนานต่อไปเทอญ”
โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเอานามของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาชุ่มมาตั้งพระราชทาน เนื่องจากทรงพระราชดำริว่าท่านเป็นคนซื่อตรง
ทรงศึกษา
พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุณปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นพระอาจารย์
พ.ศ. 2418 ขณะพระชันษา 13 ปี ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พ.ศ. 2420 ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง ขณะพระชันษา 15 ปี
รับราชการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐา ถึงขนาดตรัสชมว่า ทรงเป็นเสมือน “เพชรประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนคำนำพระนามเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และในวันต่อมาพระองค์ท่านได้เข้าถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้สนองพระเดชพระคุณตลอดมา ตราบจนทรงพระชราภาพ ไม่สามารถทำราชการหนักในตำแหน่งต่อไปอีก จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นเสนาบดีที่ปรึกษา
สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มประชวรด้วยโรคพระหทัยมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 จึงเสด็จกลับมารักษาพระอาการประชวรในประเทศไทย (ก่อนหน้านั้นทรงประทับอยู่ ณ เกาะปีนัง ภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) พระอาการทรงและทรุดเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สิริรวมพระชันษา 81 ปี อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระโอรสสืบราชสกุล คือ หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล นายทหารม้าราชองครักษ์และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7, พระนัดดา (หลาน) คือ หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล อดีตเอกอัครราชทูต ณ ประเทศมาเลเซีย สมาพันธรัฐสวิส และนครรัฐวาติกัน, พระปนัดดา (เหลน) ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสืบตระกูล (ต.อ.จ.) และดำรงรักษาวังวรดิศ คือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จังหวัดเชียงใหม่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล มีบุตรชายสืบตระกูลคนเดียว คือ นายวรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกทาง “Innovation Management” ผู้มีศักดิ์ลำดับเป็นทายาทชั้นลื่อของพระองค์ท่าน
พระกรณียกิจ
พ.ศ. 2422 ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยโท ผู้บังคับการทหารม้า ในกรมทหารมหาดเล็กและในปีเดียวกันนี้ได้รับพระราชทานพระยศเป็น นายร้อยเอก ราชองค์รักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะพระชันษา 17 ปี
พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็นนายพันตรี ผู้สนองพระบรมราชโองการ ว่าการกรมทหารมหาดเล็ก
พ.ศ. 2424 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า “กรมกองแก้วจินดา” ทรงจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
พ.ศ. 2425 ผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2428 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายพันโท
พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก
พ.ศ. 2430 เป็นองคมนตรี
พ.ศ. 2431 ได้รับพระราชทานพระยศนายพลตรี
5 เมษายน พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากงานฝ่ายทหารไปปฏิบัติงานทางพลเรือน ทรงเป็นผู้กำกับการ กรมธรรมการ
พ.ศ. 2433 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. 2435 – 2458 โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2437 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสภา
29 สิงหาคม พ.ศ. 2444 ได้รับพระราชทานพระยศนายพลโท
พ.ศ. 2458 ดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร
พ.ศ. 2466 ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และเป็นนายพลเอก
พ.ศ. 2468 ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี
พ.ศ. 2469 ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา
พระโอรสและพระธิดา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ต้นราชสกุลดิศกุล มีหม่อม 11 คน ได้แก่
หม่อมเฉื่อย (สกุลเดิม ยมาภัย)
หม่อมนวม (สกุลเดิม โรจนดิศ)
หม่อมลำดวน (สกุลเดิม วสันตสิงห์) ธิดาหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (สิงโต วสันตสิงห์)
หม่อมแสง (สกุลเดิม ศตะรัตน์) ธิดาพระดำรงราชานุภาพ
หม่อมเจิม (สกุลเดิม สนธิรัตน์) ธิดาพระยาอุไทยมนตรี (ทิม สนธิรัตน์)
หม่อมอบ (สกุลเดิม สุขไพบูลย์)
หม่อมหลวงใหญ่ (เดิม หม่อมหลวงลำดวน อิศรเสนา) ธิดาหม่อมเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์แดง อิศรเสนา)
หม่อมหยาด (สกุลเดิม กลัมพากร) ธิดาพระจำนงค์อักษร (เปลี่ยน กลัมพากร)
หม่อมเป๋า
หม่อมเยื้อน
หม่อมเพิ่ม (สกุลเดิม สุขไพบูลย์)
โดยมีพระโอรสและพระธิดารวมทั้งหมด 37 องค์ เป็นชาย 14 องค์ เป็นหญิง 23 องค์
พระราชานุสาวรีย์
กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในลักษณะประทับนั่ง บริเวณด้านหน้าศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วันดำรงราชานุภาพ
วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สืบเนื่องจากการที่พระองค์เป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505 และทรงได้รับการถวายพระนามเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”
Comments are closed