สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี
เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีกเจ็ดเดือนถัดมา โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช
พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด
พระราชสมภพและปฐมวัย
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา ครั้นเมื่อถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน เกิดแต่นาง นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย ต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์ สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า “บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก และเกิดเจิ้งเจา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ…”
สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงเคยบวชเรียนมาระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลีครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ส่วน อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน ญวน และภาษาลาว
เชื้อสายจีน
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชื่อเรียกขานกันในหมู่ชาวจีนว่า เตียซินตัด หรือ เตียซินตาด แปลว่า พ่อสินเจ้าเมืองตาก และยังมีชื่อที่ปรากฏว่า เจิ้งกั๋วอิง แปลว่า วีรบุรุษของประเทศนามเจิ้ง ตามหลักฐานจีน ก่อนเสด็จรับราชการเคยทรงประกอบอาชีพค้าขายต่อจากพระราชบิดา และยังมีหลักฐานที่ส่อว่าเคยทรงเป็นพ่อค้าเกวียน มีรับสั่งได้คล่องแคล่ว ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน
อย่างไรก็ตาม ต้วนลี่เซิงได้พบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน รวมทั้งศาลประจำตระกูลซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464 มีข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นผู้สืบราชสกุลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งไปฝังแทนพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน สิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานว่า สายวงศ์พระราชบิดาอยู่ที่ตำบลนั้นซึ่งเป็นถิ่นที่แห้งแล้งทำให้อพยพมาอยู่พระนครศรีอยุธยา
อาชีพค้าขาย
นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน
ข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตากโดยติดต่อผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยเสียชีวิต จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. 2307 เกิดเหตุการณ์พม่ายกกองทัพมายึดหัวเมืองแถบภาคใต้ของไทยปัจจุบันโดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ปรากฏว่าพม่ายึดได้โดยง่าย จึงยึดเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพซึ่งมีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนกองทัพพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร
ต่อมา พ.ศ. 2308 พม่ายกกองทัพผ่านเมืองตากอีกครั้ง พระยาตากมีความเห็นว่าสู้ไม่ไหวจึงส่งกองกำลังมาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ และยังปรากฏในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบนำทหาร 500 นายมาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จความดีความชอบ ในระหว่างการปิดล้อมนั้นก็ได้ปรากฏฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ
สร้างกลุ่มชุมนุม
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตกล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา ทรัพย์สิน วัวควายถูกยึดไว้หมด จนกลางดึกของคืนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกประมาณ 3 เดือน กองทัพพม่ายิงถล่มกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือน วัด และวัง ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะบ้านเรือนของราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง พระยาพิพัทธโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลังเขียนจดหมายถึงสภาบริหารสูงสุด (Supreme Government) ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ที่เมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2312 กล่าวว่า พระเจ้าตากเสด็จไปยังเมืองจันทบูรตามพระราชโองการของพระเจ้าเอกทัศน์ ไม่ได้เสด็จ “หนี” ออกจากกรุง กลางวันของวันที่ 3 มกราคมนั้นพระยาตากรวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อน กองกำลังพระยาตากเริ่มออกเดินทางจากวัดพิชัยมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมาแล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายกลับไป ก่อนเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน ต่อมา เช้าวันที่ 4 มกราคม กองกำลังพระยาตากเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพธิ์สังหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้สู้รบกันจนพม่าพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกช่วงเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก 4 ม้าออกรับศึก สามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง เหล่าทหารม้าจึงถือเอาวันที่ 4 มกราคมเป็นวันทหารม้าของไทย
วันที่ 3 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้างเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่นไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงปะทะกับไพร่พลชาวบ้านกงซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่กองกำลังพระยาตากเป็นฝ่ายชนะและสามารถยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทอง และเสบียงอาหารอีกมาก ต่อมาวันที่ 8 มกราคม (วันที่ 6) เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ้มแล้วหยุดพัก 2 วันก่อนเดินทัพต่อไปถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก 1 คืน ต่อมาพระยาตากนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชาที่ตามกองกำลังพระยาตากมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้นเกิดปะทะกับทัพบกและทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำโจ้โล้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ประชุมพงศวดารบันทึกไว้ว่า “พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ” พระยาตากจึงสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ และเรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตรจึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น ทหารพม่าทั้ง 4 แนวแตกพ่ายไป “จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง” จากแนวปะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี “จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ” (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี)
ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระยาตาก แต่เพียงแสดงแสนยานุภาพ “เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ” นายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไปพัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น หลังจากพระยาตากยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ข่าวแพร่กระจายออกไป พระยาตากจึงได้ประกาศพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้า” ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัยได้ 23 วัน พระองค์มีพระราชปณิธานโดยพระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตเลขาบันทึกว่า
พระยากำแพงเพชรจึงปรึกษากับนายทหารและรี้พลทั้งปวงว่า กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย
การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่า พระเจ้าตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบุรีซึ่งก่อนเข้าตีเมืองได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด โดยมีเป้าหมายให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบุรี แต่ถ้าตีเมืองไม่สำเร็จก็ให้อดตายกันทั้งหมดที่นี่
Comments are closed