สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
สมเด็จพระศรีสุริโยทัย หรือ พระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา เป็นอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 15 ของกรุงศรีอยุธยาแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระสุริโยทัย ตามพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ กล่าวเพียงแค่เป็นอัครมเหสีผู้เสียสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องพระราชสวามีในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ในปี พ.ศ. 2091 พงศาวดารบางฉบับ กล่าวว่า พระสุริโยทัย เป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย โดยมิได้กล่าวรายละเอียดใดมากกว่านี้
พระสุริโยทัยทรงเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง 7 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์และเข้ามาตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของพระสุริโยทัย เพราะขณะพระเจ้าแปรตะโดธรรมราชาที่ 1 กำลังปะทะกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระนางได้ไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางด้วยเกรงว่าพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่ง สวรรคตอยู่บนคอช้าง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีจุลศักราช 910 ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2091 เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระบรมศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพเป็นวัดศพสวรรค์ (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์ในปัจจุบัน)
พระวีรกรรมในหลักฐานไทย
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2090 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปดูกำลังข้าศึกที่ภูเขาทอง พระสุริโยทัยพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดารวม 4 พระองค์ตามเสด็จด้วย โดยพระองค์ทรงแต่งกายอย่างพระมหาอุปราช ทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์สูง 6 ศอก ครั้นยกกองทัพออกไปบริเวณทุ่งภูเขาทอง กองทัพอยุธยาปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพม่า ช้างทรงของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดเสียทีหันหลังหนีจากข้าศึก พระเจ้าแปรก็ทรงขับช้างไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พระสุริโยทัยทอดพระเนตรเห็นพระราชสวามีกำลังอยู่ในอันตรายจึงรีบขับช้างเข้าขวางพระเจ้าแปร ทำให้ทรงไม่สามารถติดตามต่อไปได้ พระเจ้าแปรจึงทำยุทธหัตถีกับพระสุริโยทัย เนื่องจากพระนางอยู่ในลักษณะเสียเปรียบ ช้างพระเจ้าแปรได้เสยช้างพระสุริโยทัย จนเท้าหน้าทั้งสองลอยพ้นพื้นดิน แล้วพระเจ้าแปรจึงฟันพระสุริโยทัยด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาขาดถึงราวพระถัน ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่ามีพระราชธิดาสิ้นพระชนม์บนคอช้างด้วย
ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระองค์ขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย แต่ตัวตนและความเสียสละของพระองค์ยังเป็นหัวข้อที่ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เนื่องจากความจริงที่ว่าพระนามของพระองค์มิได้ถูกกล่าวถึงหรือบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่าเลย และข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ถูกคัดมาจากบางตอนของจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยาและการบรรยายของนักสำรวจชาวโปรตุเกส โดมิงกู เซชัส (Domingo Seixas)
พระราชโอรสและพระราชธิดา
พระสุริโยทัยมีพระราชโอรสพระราชธิดา 5 พระองค์ ซึ่งน่าจะเรียงลำดับดังนี้
พระราเมศวร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ถูกจับเป็นองค์ประกันแก่พม่า และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี
พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2112
พระสวัสดิราช พระราชธิดา ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและเป็นพระมารดาในพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงครามคราวเสียพระสุริโยไท
พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ภายหลังถูกส่งตัวถวายแด่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งระหว่างการเดินทางถึงชายแดนสยามประเทศพระนางถูกพระเจ้าบุเรงนองชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี
พระราชานุสาวรีย์
หลังสงคราม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้พระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่สวนหลวง แล้วสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน คือ วัดสวนหลวงสบสวรรค์ สถูปขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเก็บพระบรมอัฐิของสมเด็จพระสุริโยทัย ถูกเรียกว่า เจดีย์พระศรีสุริโยทัย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้มีโครงการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ในบริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระสุริโยทัยและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2535
วัฒนธรรมสมัยนิยม
ได้มีการนำพระราชประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัยมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2535 ทางช่อง 3 โดยมีกาญจนา จินดาวัฒน์ รับบทเป็นสมเด็จพระสุริโยทัย และภาพยนตร์จากการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในปี พ.ศ. 2544 โดยมีหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รับบทเดียวกัน
ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สุริโยไท” ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2544 เนื้อหากล่าวถึงตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่สงครามและยุทธหัตถี และนำไปสู่การสวรรคตของสมเด็จพระสุริโยทัย ภาพยนตร์ใช้ต้นทุนสร้าง 550 ล้านบาท
ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยา นอกจากจะกระเดื่องพระเกียรติที่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๗ ช้าง จนได้รับถวายพระนามว่าเป็น “พระเจ้าช้างเผือก” จึงเป็นที่อิจฉาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์หนุ่มแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งได้อ้างเรื่องการขอช้างเผือกที่ไม่มีใครยอมแบ่งให้ได้เป็นสาเหคุทำศึกถึงขั้นยุทธหัตถี แต่ผู้ที่สังเวยพระชนม์ให้กับกษัตริย์ผู้คะนองศึกครั้งนี้ กลับไม่ใช่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่เป็นพระอัครมเหสี หรือพระราชธิดา หรือทั้งสองพระองค์ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้สับสนกล่าวไว้เป็น ๓ แนวทางที่ไม่ตรงกัน
“พระราชพงศาวดารกรุงสยาม” จากต้นฉบับที่กรมศิลปากรได้มาจากบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวว่า
“…สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึก ดังนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัยเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพก็ขับพระคชาธารพลายทรงพระสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาพระสุริโยทัย ขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระรามเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระราชมารดาไม่ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้…”
ฉบับนี้กล่าวว่า วีรสตรีที่สิ้นพระชนม์คาคอช้าง ก็คือพระอัครมเหสี สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
แต่ “คำให้การของชาวกรุงเก่า” เอกสารที่พม่าได้ให้เชลยศึกชาวกรุงศรีอยุธยาเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของตัวเองบันทึกไว้ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ค่อนข้างละเอียดว่า
“ครั้งนั้นพระมหาจักรวรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงประชวรหนัก ขณะที่กรุงทวารวดีทั้งสิ้นเกิดการโกลาหลอลหม่าน กษัตริย์อยุธยากับพระมเหสีปรึกษากันอยู่ แลว่าพระโอรสเราก็ยังเยาว์พระชันษา พระธิดาก็มีพระชนม์เพียง ๑๓ ขวบปี มหาบรมดิลกจึงกราบทูลว่า พระบิดาทรงมีนัดหมายสำคัญกับกษัตริย์พม่า แต่กลับมาทรงประชวรเสีย หากจะยั้งอยู่มิทรงพระคชาธารออกไปก็จะเสียการ และจะต้องตกเป็นเชลย ข้าผู้พระธิดาจะยอมสละชีวิตออกทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แม้ต้องตายไปตามวิบากกรรมก็ได้ชื่อว่าได้ทดแทนพระคุณ ย่อมเข้าสู่สุคติภพ หากถูกเขาเอาชัยไปโดยเรามิได้ออกสัประยุทธ์ ก็จะพากันตายโดยไร้เกียรติ ในบัดดลกษัตริย์อยุธยาตรัสห้ามครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าการนี้มิใช่ธุระของเจ้าเหล่าอิสตรี แต่ครั้นพระธิดากราบทูลซ้ำเป็นหลายคำรบจึงทรงอนุญาต ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระราชธิดาก็ทรงเครื่องทหารของเหล่าขุนทหาร แล้วเสร็จเข้าถวายบังคมลาพระราชบิดาพระราชมารดา ข้างพระราชบิดาและพระราชมารดาก็ทรงอำนวยพรว่า เจ้าเป็นพระธิดาผู้ทำประโยชน์แก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ สัตว์ทั้งหลาย แลบิดรมารดา ขอให้จงมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ขอให้เจริญด้วยอายุขัย ขอให้มีชัยเหนือกษัตริย์หงสาวดีแลเหล่าข้าศึกที่กรีธาทัพมาในครั้งนี้ด้วยเทอญ ครั้นแล้วพระธิดาก็ทรงช้างบรมฉัททันต์ซึ่งเมาด้วยฤทธิ์สุราอยู่ ทรงออกขอช้างทรงแวดล้อมด้วยฝูงไพร่พล เสด็จออกไปยังทุ่งมโนรมย์ ครั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตกทุ่งเสมอกัน ก็เอาผ้าหน้าร่าห์บังตาช้างทรงไว้ ครั้นได้เพลาก็ชักผ้าออก แลทำยุทธหัตถีแก่กัน ด้วยพระบรมดิลกทรงเป็นอิสตรี จึงมิอาจบังคับช้างได้ ช้างที่ทรงอยู่ก็เบนท้าย กษัตริย์หงสาวดีก็ฟาดเอาด้วยขอ พระบรมดิลกก็ตกจากช้างทรง เสียงร้องปรากฏเป็นเสียงอิสตรี พระเจ้าช้างเผือกมหาธรรมราชาจึงทรงรวมพลเสด็จกลับคืนสู่หงสาวดีด้วยละอายพระทัย เกรงเหล่ากษัตริย์สืบไปเบื้องหน้าจะลือว่าต่อรบด้วยอิสตรี นับเป็นชัยอันควรอัปยศ”
ฉบับนี้ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยไม่ได้ออกไปสนามรบด้วย มีแต่พระบรมดิลกทรงเครื่องทหารไปแทนพระราชบิดาที่ทรงประชวร
ส่วน “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” พงศาวดารสำคัญอีกฉบับ กล่าวว่า
“…แลครั้นเสวยราชสมบัดดิได้ ๗ เดือนพระยาหงษาปังเสวกี ยกพลมายังพระนครศรีอยุทธยาในเดือน ๔ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย แลเมื่อได้รบศึกหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเปนโกลาหลใหญ่ แลสมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าเศิกเถิงสิ้นพระชนม์กับฅอช้างนั้น…”
เรื่องราวของพระสุริโยทัยเป็นที่วีรกรรมที่คนไทยในปัจจุบันรู้จักกันดี ทั้งจากแบบเรียนและสื่อบันเทิงว่าพระองค์คือวีรสตรีผู้เป็นอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งในการศึกกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุว่า “สมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกเถิงสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น”
นี่คือหลักฐานจากพงศาวดารที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ขณะที่ โยธยา ยาสะเวง หรือ คำให้การชาวกรุงเก่า เอกสารพม่าที่เรียบเรียงขึ้นจากปากคำของเชลยศึกชาวอยุธยา ได้ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างออกไป โดยระบุให้ “มหาบรมดิลก” พระราชธิดาของพระมหาจักรวรรดิ (ซึ่งน่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับพระมหาจักรพรรดิ) เป็นผู้ออกรบกับกษัตริย์พม่าแทนพระราชบิดาที่ประชวร โดยพระราชมารดาของพระองค์มิได้ออกรบด้วย ดังความกล่าวว่า [จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ]
“ครั้งนั้นพระมหาจักรวรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงประชวรหนัก ขณะที่กรุงทวารวดีทั้งสิ้นเกิดการโกลาหลอลหม่าน กษัตริย์อยุธยากับพระมเหสีปรึกษากันอยู่ (แลว่า) พระโอรสเราก็ยังเยาว์พระชันษา พระธิดาก็มีพระชนม์เพียง ๑๓ ขวบปี มหาบรมดิลกจึงกราบทูลว่า (พระบิดา) ทรงมีนัดหมายสำคัญกับกษัตริย์พม่า แต่กลับมาทรงประชวรเสีย หากจะยั้งอยู่มิทรงพระคชาธารออกไปก็จะเสียการ และจะต้องตกเป็นเชลย ข้าผู้พระธิดาจะยอมสละชีวิตออกทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แม้ต้องตายไปตามวิบากกรรมก็ได้ชื่อว่าได้ทดแทนพระคุณ ย่อมเข้าสู่สุคติภพ หากถูกเขาเอาชัยไปโดย (เรา) มิได้ออกสัประยุทธ์ ก็จะ (พากัน) ตายโดยไร้เกียรติในบัดดล
กษัตริย์อยุธยาตรัสห้ามครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าการนี้มิใช่ธุระของเจ้าเหล่าอิสตรี แต่ครั้นพระธิดากราบทูลซ้ำเป็นหลายคำรบจึงทรงอนุญาต ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระราชธิดาก็ทรงเครื่องทหารของเหล่าขุนทหาร แล้วเสร็จเข้าถวายบังคมลาพระราชบิดา พระราชมารดา ข้างพระราชบิดาและพระราชมารดาก็ทรงอำนวยพรว่า (เจ้า) เป็นพระธิดาผู้ทำประโยชน์แก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ สัตว์ทั้งหลาย แลบิดรมารดา ขอให้จงมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ขอให้เจริญด้วยอายุขัย ขอให้มีชัยเหนือกษัตริย์หงสาวดี แลเหล่าข้าศึกที่กรีธาทัพมาในครั้งนี้ด้วยเทอญ
ครั้นแล้วพระธิดาก็ทรงช้างบรมฉัททันต์ซึ่งเมาด้วยฤทธิ์สุราอยู่ ทรงออกขอ (ช้างทรง) แวดล้อมด้วยฝูงไพร่พล เสด็จออกไปยังทุ่งมโนรมย์ ครั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตกทุ่งเสมอกัน ก็เอาผ้าหน้าร่าห์บังตาช้างทรงไว้ ครั้นได้เพลาก็ชักผ้าออก แลทำยุทธหัตถีแก่กัน ด้วย (พระบรมดิลก) ทรงเป็นอิสตรี จึงมิอาจบังคับช้างได้ ช้างที่ทรงอยู่ก็เบนท้าย กษัตริย์หงสาวดีก็ฟาดเอาด้วยขอ พระบรมดิลกก็ตกจากช้างทรง เสียงร้องปรากฏเป็นเสียงอิสตรี พระเจ้าช้างเผือกมหาธรรมราชาจึงทรงรวมพลเสด็จกลับคืนสู่หงสาวดี ด้วยละอายพระทัย เกรงเหล่ากษัตริย์สืบไปเบื้องหน้าจะลือว่าต่อรบด้วยอิสตรี นับเป็นชัยอันควรอัปยศ”
เรื่องราวดังกล่าวถือว่าน่าสนใจ (ส่วนความน่าเชื่อถือของหลักฐานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เพราะแม้ว่าเอกสารจากฝ่ายพม่าจะให้รายละเอียดต่างออกไปจากเรื่องเล่ากระแสหลักที่เรารับรู้กัน แต่เรื่องเล่าทั้งสองกระแสต่างก็ยืนยันถึงวีรกรรมของขัตติยนารีของฝ่ายอยุธยาในการรบครั้งนั้น
นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยว่าสมเด็จพระสุริโยไททรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้าง “พลายทรงสุริยกษัตริย์” สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ซึ่งวิเคราะห์แล้วถือเป็นช้างที่สูงมากในขบวนช้างแม่ทัพฝ่ายไทย เพราะช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิคือ พลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว ช้างทรงพระราเมศวร คือพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว และช้างทรงพระมหินทราธิราช คือพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ส่วนช้างของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ คือช้างต้นพลายมงคลทวีปนั้นสูงถึงเจ็ดศอก และช้างของพระเจ้าแปรผู้ประหารพระนาง คือพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว สูงกว่าช้างทรงพระสุริโยไทคืบเจ็ดนิ้วเต็ม ร่องรอยแห่งอดีตกาลสั่งสมผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ แม้นไม่อาจสัมผัสได้ด้วยสายตา แต่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรสตรีผู้ทรงนาม “พระสุริโยไท” จะยังคงประจักษ์อยู่ในหัวใจ อนุชนรุ่นหลังมิรู้ลืมเลือน
Comments are closed