มีเกลันเจโล เมรีซี ดา การาวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio)
มีเกลันเจโล เมรีซี ดา การาวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) เป็นจิตรกรสมัยบาโรกคนสำค้ญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีความสำคัญในการเขียนภาพสีน้ำมัน ผู้มีผลงานส่วนใหญ่ที่ โรม เนเปิลส์ ซิซิลี และประเทศมอลตา ระหว่างปี ค.ศ. 1593 ถึงปี ค.ศ. 1610
แม้แต่เมื่อการาวัจโจ ยังมีชีวิตอยู่ก็มีได้ชื่อว่าเป็นผู้ยากที่จะเข้าใจได้ (enigmatic) น่าทึ่ง ไม่ยอมอยู่ในระบบ และออกจะอันตราย ตั้งแต่เริ่มทำงานเมื่อปี ค.ศ. 1600 การาวัจโจก็มีคนจ้างตลอดแต่การรักษาสัญญาของการาวัจโจก็ออกจะมีปัญหา ซึ่งจะเห็นได้จากใบประกาศที่พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1604 ที่บรรยายวิถีชีวิตของการาวัจโจสามปีก่อนหน้านั้นว่า หลังจากทำงานได้สองอาทิตย์ก็เที่ยวลอยชายถือดาบโดยมีคนรับใช้ติดตามสักเดือนสองเดีอน พร้อมจะหาเรื่องทะเลาะหรือต่อสู้ จึงเป็นการยากที่จะเข้ากับการาวัจโจได้ เมื่อปี ค.ศ. 1606 การาวัจโจฆ่าชายหนุ่มหลังจากทะเลาะกันจนต้องหนีไปโรมเพราะมีค่าหัว เมื่ออยู่ที่มาลตาเมื่อปี ค.ศ. 1608 คาราวัจโจก็ไปมีเรื่อง และเมื่อไปอยู่ที่เนเปิลส์เมื่อปี ค.ศ. 1609 ว่ากันว่ามีคนพยายามฆ่าการาวัจโจโดยศัตรูที่เราไม่รู้ ต่อมาอึกปีหนึ่งหลังจากเขียนภาพได้เพียงสิบปีกว่าๆ คาราวัจโจก็เสียชีวิต
ในกรุงโรมระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการสร้างทั้งวัดและวังขนาดใหญ่ๆ กันขนานใหญ่ เมื่อมีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ก็มีความต้องการภาพเขียนเพื่อใช้ตกแต่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ โบสถ์ที่สร้างที่เป็นผลจากการปฏิรูปคาทอลิกก็มีความต้องการภาพเขียนทางศาสนาเพื่อจะตอบโต้อิทธิจากการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และงานเขียนภาพแบบแมนเนอริสม์ ที่มีอิทธิพลมาร่วมร้อยปีก็ไม่เป็นการเพียงพอต่อการแสดงออกที่ต้องการ ลักษณะงานของการาวัจโจที่ต่างจากงานรุ่นก่อนโดยใช้ความเป็นธรรมชาติ (Naturalism) ผสมกับความเป็นนาฏกรรมที่เห็นได้จากการใช้แสงเงาที่ตัดกันอย่างชัดเจน (chiaroscuro)
การาวัจโจมึชื่อเสียงและมีอิทธิพลสำคัญในระหว่างที่มีชีวิตอยู่แต่ก็ลืมกันไปจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่องานของการาวัจโจมาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการวิว้ฒนาการทางศิลปะตะวันตก งานของคาราวัจโจมีความสำคัญอย่างลึกซึ้งต่อลักษณะแบบบาโรกที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากศิลปะแมนเนอริสม์ อันเดร เบิร์น-จอฟฟรอย (Andre Berne-Joffroy) ผู้เป็นเลขานุการของพอล วาเลรี (Paul Valéry) กล่าวกับเบิร์น-จอฟฟรอยว่า ภาพเขียนของคาราวัจโจพูดง่ายๆ ก็คือภาพเขียนสมัยใหม่นี่เอง
การาวัจโจเกิดที่มิลาน ที่พ่อแฟร์โม เมรีชีเป็นผู้บริหารกิจการภายในและสถาปนิก-นักตกแต่งแก่มาร์ควิสแห่งการาวัจโจ ลูเชีย อาราตอรีแม่ของการาวัจโจมาจากครอบครัวผู้มีอันจะกินในบริเวณเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1576 ครอบครัวก็ย้ายไปคาราวัจโจในลอมบาร์ดีเพื่อหนีโรคระบาดในมิลาน พ่อของคาราวัจโจเสียชีวิตที่นั่นในปี ค.ศ. 1577 และแม่ในปี ค.ศ. 1584 จึงสันนิษฐานว่าการาวัจโจเติบโตที่การาวัจโจแต่ครอบครัวยังรักษาความสัมพันธ์กับตระกูลสฟอร์ซา (Sforza) และตระกูลโคโลนา (Colonna) ที่เป็นครอบครัวที่มีอิทธิพลและเป็นพันธมิตรกับตระกูลสฟอร์ซาจากการแต่งงาน ครอบครัวนี้ต่อมามีความสำคัญต่อในชีวิตของการาวัจโจ
ใน ค.ศ. 1584 การาวัจโจฝึกงานเป็นเวลาสี่ปีกับจิตรกรชาวลอมบาร์ดชื่อซีโมเน เปแตร์ซาโน (Simone Peterzano) ผู้ที่บรรยายตัวเองในสัญญาการฝึกงานว่าเป็นลูกศิษย์ของทิเชียน ดูเหมือนว่าการาวัจโจจะพำนักอยู่ที่บริเวณมิลาน-การาวัจโจหลังจากฝึกงานเสร็จ แต่ก็เป็นไปได้ว่าได้ไปเวนิสและได้ไปเห็นงานของ จอร์โจเนผู้ที่เฟเดอริโค ซูคคาริกล่าวหาว่าเลียนแบบ และของทิเชียน นอกจากนั้นการาวัจโจก็ยังมีความคุ้นเคยกับงานมีค่าต่างๆ ของมิลาน รวมทั้งงาน “พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย” โดยเลโอนาร์โด ดา วินชี และงานของลอมบาร์ดีซึ่งมีจะไปทางที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติที่ใกล้กับลักษณะธรรมชาตินิยมของเยอรมันกว่าลักษณะอันหรูหราใหญ่โตแบบแมนเนอริสม์ของโรม
ในกลางปี ค.ศ. 1592 การาวัจโจหนีจากมิลานหลังจากเหตุการณ์บางอย่างที่คาราวัจโจไปทำร้ายตำรวจ การาวัจโจมาถึงกรุงโรมอย่าง “ตัวเปล่าเล่าเปลือยและมีแต่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น … โดยไม่มีที่อยู่ที่ถาวรและอาหารการกิน … ไม่มีเงินติดตัว” สองสามเดือนต่อมาคาราวัจโจก็ได้ทำงาน “เขียนดอกไม้และผลไม้” ให้กับจุยเซ็ปปิ เซซาริช่างเขียนคนโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ผู้เป็นช่างเขียนที่มีความสำเร็จดีในเวิร์คช็อพที่คล้ายโรงงาน งานเขียนจากช่วงนี้ก็ได้แก่งานเขียนชิ้นเล็ก “เด็กชายปอกผลไม้” ซึ่งเป็นงานเขียนเท่าที่ทราบว่าเป็นงานเขียนชิ้นแรก, “เด็กชายกับตะกร้าผลไม้” และ “บาคคัสไม่สบาย” ซึ่งว่ากันว่าเป็นภาพเหมือนตนเองระหว่างที่นอนป่วยหนักอยู่ จนในที่สุดต้องหยุดทำงานให้กับเซซาริ งานทั้งสามแสดงให้เห็นลักษณะการเขียนร่างกายอย่างหนึ่ง—ที่เป็นลักษณะเหมือนจริง—ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะที่มีเด่นของการเขียนภาพของคาราวัจโจ ศาสตราจารย์ทางพืชสวนคนหนึ่งวิจัยตะกร้าผลไม้ในภาพพบว่าสามารถบอกทุกสิ่งทุกอย่างในภาพได้ถูกต้องจนแม้แต่ “… ใบฟิกใหญ่ที่มีรอยรา (cingulataanthracnose) ไหม้อยู่บนใบ”
การาวัจโจเลิกทำงานกับเซซารีในเดือนมกราคม ค.ศ. 1594 และตั้งใจที่จะอยู่บนขาของตัวเองแต่สถานะการณ์ขณะนั้นยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก ในขณะเดียวกันการาวัจโจก็ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนสองสามคนที่ต่อมามามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อคาราวัจโจ: จิตรกรโพรสเปโร ออร์ซิ (Prospero Orsi) สถาปนิกโอโนริโอ โลงกิ (Onorio Longhi) และศิลปินซิซิลีอายุสิบหกปี มาริโอ มินนิติ (Mario Minniti) ออร์ซิขณะนั้นมีชื่อเสียงแล้วก็ได้แนะนำคาราวัจโจแก่นักสะสมผู้มีอิทธิพลคนสำคัญหลายคน; โลงกิที่ร้ายกว่าแนะนำให้รู้จักชีวิตการทะเลาะเบาะแว้งตามถนนในกรุงโรม; และมินนิติเป็นตัวอย่างที่ดีแก่การาวัจโจและหลายปีต่อมาเป็นเครื่องมือที่ทำให้การาวัจโจได้รับงานจ้างสำคัญๆ ในซิซิลี
“หมอดู” เป็นภาพแรกที่เขียนที่มีตัวแบบมากกว่าหนึ่งตัวในภาพ เป็นภาพของมาริโอถูกหลอกโดยหญิงยิปซี ซึ่งเป็นหัวเรื่องการเขียนที่ยังใหม่สำหรับโรมและเป็นภาพที่ต่อมามีอิทธิพลต่อมาต่อนักเขียนผู้อื่นอีกกว่าร้อยปี แต่ในขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักและคาราวัจโจขายได้เพียงไม่กี่สตางค์ “คนโกงไพ่” — เป็นภาพเด็กที่ไม่ใช่เด็กจากครอบครัวชนชั้นสูงที่ตกเป็นเหยื่อของการโกงไพ่ — ซึ่งเป็นภาพที่เพิ่มความซับซ้อนทางจิตวิทยามากขึ้นและอาจจะถือได้ว่าเป็นงานเขียนชิ้นเอกชิ้นแรกของคาราวัจโจที่แท้จริงก็ได้ เช่นเดียวกับภาพ “หมอดู” “คนโกงไพ่” เป็นภาพที่เป็นที่นิยมกันมากและยังมีอีกกว่า 50 ภาพที่ยังคงอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการที่ทำให้คาราวัจโจเป็นที่สนใจของคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตผู้เป็นนักสะสมศิลปะคนสำคัญคนหนึ่งของโรม คาราวัจโจเขียนภาพชีวิตประจำวันแบบนี้ให้กับเดล มอนเตและคนในวงการที่ร่ำรวยหลายภาพเช่น — “นักดนตรี”, “คนเล่นลูท”, “บาคคัส” เมา, และอุปมานิทัศน์แต่เหมือนจริงในภาพ “เด็กถูกจิ้งเหลนกัด” — ที่ใช้มินนิติและเด็กผู้ชายคนอื่นๆ เป็นแบบ บรรยากาศที่ดูเหมือนจะสื่อความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายในภาพเหล่านี้เป็นหัวข้อของการถกเถียงกันมากในหมู่นักวิชาการและนักเขียนชีวประวัติตั้งแต่มีผู้เสนอความคิดเมื่อหลังครึ่งคริสต์ศตวรรษที่ 20
ลักษณะการเขียนของความเป็นจริงเช่นนี้มาปรากฏในภาพเขียนแรกๆ ที่เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับศาสนาที่สื่อความรู้สึกศรัทธาทางใจที่เห็นได้ชัด งานชิ้นแรกๆก็ได้แก่ “แมรี แม็กดาเลนเศร้า” ที่เป็นภาพนักบุญแมรี แม็กดาเลนในชั่วขณะที่เปลี่ยนจากการเป็นผู้หญิงในราชสำนักที่นั่งร้องไห้บนม้านั่งเตี้ยๆ โดยมีเครื่องประดับกระจัดกระจายอยู่รอบตัว “ดูไม่เหมือนภาพทางศาสนาเลย … หญิงสาวนั่งบนม้าไม้เตี้ยขณะที่ทำผมให้แห้ง … ความรู้สึกผิด … ความรู้สึกทรมาน … คำสัญญาว่าจะได้รับการไถ่บาปอยู่ที่ไหน?” การวาดยังเป็นลักษณะไม่ตึงตังที่เป็นการเขียนลักษณะลอมบาร์ด ที่ต่างกับการเขียนแบบประวัติศาสตร์ของลักษณะการเขียนของโรมในขณะนั้น ภาพเขียนนี้ตามด้วยภาพเขียนลักษณะเดียวกันอีกหลายภาพ: “นักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย”, “มาร์ธาและแมรี แม็กดาเลน”, “จูดิธตัดหัวโฮโลเฟิร์นเนส”, “สังเวยไอแซ็ค”, “นักบุญฟรานซิสปลื้ม” และ “พักระหว่างหนีไปอียิปต์” งานเขียนแม้จะอยู่ในหมู่คนวงแคบแต่ก็เริ่มสร้างชื่อเสียงให้คาราวัจโจในหมู่นักสะสมภาพและเพื่อนศิลปินด้วยกัน แต่ถ้าจะให้มีชื่อเสียงจริงแล้วคาราวัจโจก็ต้องได้รับงานจากสาธารณะซึ่งหมายความว่าก็ต้องหันไปหาวัด
“จิตรกรผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโรม” (ค.ศ. 1600–1606)
อาจจะด้วยอิทธิพลของคาร์ดินัลเดล มอนเตก็เป็นได้ที่การาวัจโจได้รับสัญญาจ้างให้ตกแต่งชาเปลคอนทราเรลลิในซันลุยจีเดย์ฟรันเชซี ในปี ค.ศ. 1599 ที่เป็นงานเขียนภาพสองภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” และ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” ที่เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1600 ที่เป็นงานที่เป็นที่ต้อนรับเป็นอย่างดี คาราวัจโจใช้ลักษณะการเขียนที่เรียกว่าภาพสว่างในความมืด (tenebrism) (ลักษณะที่หนักกว่าการใช้ ค่าต่างแสง (chiaroscuro) ที่ช่วยเพิ่มความเป็นนาฏกรรมของภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกับที่ยังรักษารายละเอียดของความเป็นจริงที่ทำให้การสื่อความหมายทางความรู้สึกยิ่งรุนแรงหนักขึ้น แต่ความเห็นในบรรดาเพื่อนศิลปินด้วยกันแตกต่างกันไป บ้างก็วิจารณ์จุดอ่อนต่าง ๆ ที่เห็นเช่นติการเน้นการเขียนจากชีวิตจริงโดยไม่ได้ร่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วคาราวัจโจก็ได้รับการสรรเสริญว่าเป็นผู้มาช่วยชุบชีวิตศิลปะ: “จิตรกรที่โรมต่างก็ประทับใจในแนวการเขียนใหม่ของจิตรกรหนุ่ม และรุ่นเด็กลงไปต่างก็มาล้อมรอบตัวคาราวัจโจและสรรเสริญว่าเป็นมีเอกลักษณ์ในการเขียนเลียนแบบธรรมชาติและมองงานของคาราวัจโจว่าเป็นงานปาฏิหาริย์”
หลังจากนั้นการาวัจโจก็ได้รับสัญญาจ้างเขียนภาพศาสนาอีกมากมายที่เป็นภาพเกี่ยวกับการขัดแย้งทางใจ, การทรมานที่น่าสยดสยอง, และการตายการทรมาน ส่วนใหญ่แล้วงานที่เขียนก็เพิ่มความมีชื่อเสียงของคาราวัจโจยิ่งขึ้น มีเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธโดยผู้จ้างที่คาราวัจโจต้องนำกลับมาเขียนใหม่และขายให้ลูกค้าคนใหม่ หัวใจของปัญหาอยู่ที่ความรุนแรงของความเป็นนาฏกรรมของภาพและความเป็นจริงของภาพที่ยังยากที่จะเป็นที่ยอมรับของผู้จ้าง ผู้ที่บางคนที่ยังเห็นว่าเป็นลักษณะการเขียนภาพศาสนาที่ขาดความเคารพ เช่นภาพฉบับแรกของ “นักบุญแม็ทธิวและเทวดา” ที่เป็นภาพนักบุญแม็ทธิวในลักษณะที่เป็นชาวบ้านหัวล้านแข้งขาสกปรกกับผู้นั่งชื่นชมรอบๆ ข้างที่เป็นชายที่แต่งกายหลวมๆ หน้าตาราวเทวดาที่คาราวัจโจชอบวาด แต่ภาพถูกผู้จ้างไม่ยอมรับงาน คาราวัจโจต้องนำกลับไปเขียนแต่งใหม่เป็น “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” หรืออีกภาพหนึ่ง “มโนทัศน์ของนักบุญพอล” ที่ถูกปฏิเสธและขณะที่ฉบับอื่นของหัวข้อเดียวกัน “มโนทัศน์ของนักบุญพอลบนถนนสู่ดามาสคัส” ได้รับการยอมรับ ที่เป็นภาพของม้าที่ก้มลงมาดูนักบุญพอลที่ม้าดูจะมีความสำคัญในภาพมากกว่าตัวนักบุญพอลเอง ความขัดแย้งในการยอมรับหรือไม่ยอมรับทำให้คาราวัจโจหมดแรงกับเจ้าหน้าที่ของซันตามาเรียเดลโปโปโล: “ทำไมถึงเอาม้าไว้กลางรูปและให้นักบุญพอลนอนบนพื้น?” “เพราะ!” “ม้าเป็นม้าของพระเจ้าหรือ?” “เปล่า, แต่มันยืนขวางแสงของพระเจ้า!”
งานอื่นๆ ก็ได้แก่ “ชะลอร่างจากกางเขน”, “พระแม่มารีโลเร็ตโต” (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พระแม่มารีแห่งนักแสวงบุญ”), “พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญอันนา” และ “มรณกรรมของพระแม่มารี” ประวัติของสองภาพหลังแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาการรับหรือไม่ยอมรับงานบางชิ้นของคาราวัจโจจากนายจ้างในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นภาพ “พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญอันนา” หรือที่รู้จักกันในชื่อ พระแม่มารีพาลาเฟรนิเอริ เขียนสำหรับแท่นบูชาขนาดย่อมที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม ที่ตั้งแสดงอยู่ได้เพียงสองวันก็ถูกนำลง คาร์ดินัลเขียนว่า: “ภาพเขียนนี้ไม่มีอะไรนอกไปจากความหยายคาย, ความลบหลู่ศาสนา, ความขาดความเคารพ และความน่าขยะแขยง…เราน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นงานที่เขียนโดยจิตรกรที่เขียนได้ดี, แต่มีจิตวิญญาณที่มืด, และเป็นผู้ที่ห่างเหินจากความนับถือในพระเจ้า, จากความชื่นชมในตัวของพระองค์, และจากความคิดอันดี…”
“มรณกรรมของพระแม่มารี” เป็นภาพที่คาราวัจโจได้รับจ้างจากเลร์ซิโอ อัลเบร์ติ (Laerzio Alberti) ทนายความของพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 1601 สำหรับชาเปลส่วนตัวภายในซันตามาเรียเดลลาสกาลาซึ่งเป็นอารามคณะคาร์เมไลท์ที่ ทรัสเตเวเร (Trastevere) ในกรุงโรมซึ่งเป็นอารามใหม่ของคณะคาร์เมไลท์ แต่ถูกปฏิเสธโดยนักบวชในปี ค.ศ. 1606 จุยเลียโน มันชินิ (Giulio Mancini) ผู้ร่วมสมัยของคาราวัจโจ บันทึกว่าสาเหตุที่ถูกปฏิเสธเป็นเพราะการาวัจโจใช้โสเภณีผู้มีชื่อเสียงเป็นแบบสำหรับพระแม่มารีย์ แต่จิโอวานนิ บากลิโอเนจิตรกรร่วมสมัยอีกคนหนึ่งกล่าวว่าเป็นเพราะช่วงขาที่ออกจะเปิดเผยของพระแม่มารี — ทั้งสองกรณีอ้างมาตรฐานของสังคมขณะนั้น แต่นักวิชาการการาวัจโจ จอห์น แกชตั้งข้อเสนอว่าปัญหาของนักบวชคาร์เมไลท์อาจจะไม่ใช่ความพอใจหรือไม่พอใจในความสวยงามของภาพ แต่ข้อขัดแย้งมีรากฐานมาจากความแตกต่างทางมุมมองของปรัชญาทางศาสนา ที่นักบวชคาร์เมไลท์มีความเห็นว่าภาพของการาวัจโจละเลยความเชื่อในเรื่องแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ภาพเขียนที่นำมาแทนเป็นงานเขียนของผู้ติดตามของการาวัจโจเอง คาร์โล ซาราเชนิ (Carlo Saraceni) แสดงภาพพระแม่มารีที่มิได้นอนเสียชีวิตเช่นในภาพของการาวัจโจ แต่เป็นภาพที่ทรงนั่งเสียชีวิต แต่ภาพนี้ก็ยังถูกปฏิเสธและแทนด้วยภาพที่พระแม่มารีที่มิได้มรณะและขึ้นสวรรค์พร้อมกับหมู่ทูตสวรรค์ แต่จะอย่างไรก็ตามการปฏิเสธก็ไม่ได้หมายความว่างานของการาวัจโจไม่เป็นที่นิยม ไม่นานหลังจากที่ถูกปฏิเสธดยุกแห่งมานทัวก็ซื้อภาพ “มรณกรรมของพระแม่มารี” ตามคำแนะนำของปีเตอร์ พอล รูเบนส์ และต่อมาโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ก่อนที่จะตกไปเป็นของงานสะสมของหลวงในฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1671
งานชิ้นหนึ่งในช่วงนี้ที่มิใช่งานศาสนาคือ “ชัยชนะของความรัก” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1602 ให้วินเช็นโซ จุสติเนียนิบุคคลในวงเดล มอนเต ตัวแบบบ่งไว้ในบันทึกในต้นคริสต์ศตวรรที่ 17 ว่าชื่อ “เช็คโค” ซึ่งเป็นชื่อเล่นสำหรับฟรานเชสโค ผู้อาจจะเป็นฟรานเชสโค โบเนริที่มีชื่อเกี่ยวพันกับจิตรกรที่ทำงานระหว่าง ค.ศ. 1610-ค.ศ. 1625 ที่รู้จักกันในชื่อเช็คโค เดล คาราวัจโจ (Cecco del Caravaggio) คิวปิดถือคันธนูและศรยืนครึ่งนั่งครึ่งยืนเปลือยเปล่าอยู่บนสัญลักษณ์ของศิลปะ, วิทยาศาสตร์ของการสงคราม และความสงบ แต่เป็นการยากที่จะยอมรับใบหน้าที่ยิ้มเยาะว่าเป็นใบหน้าของคิวปิดเทพโรมัน – และยากที่จะยอมรับว่าเป็นใบหน้าของชายหนุ่มต่างๆ ที่แทบจะไม่สวมอะไรบนร่างกายของที่การาวัจโจเขียนเป็นเทวดาที่สวมปีกปลอมภาพอื่นๆ การวาดลักษณะนี้แสดงความหมายของความกำกวมของงานของการาวัจโจที่ภาพเป็นคิวปิดหรือเทพโรมันแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเช็คโคด้วย หรือภาพพระแม่มารีที่ขณะเดียวกับที่เป็นพระมารดาของพระเยซูก็เป็นสตรีในราชสำนักด้วย
Comments are closed