พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (25 สิงหาคม พ.ศ. 2434 – 5 กันยายน พ.ศ. 2519) อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสมัชชาองค์การสหประชาชาติ และอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน รวมถึงเป็นผู้ร่วมสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และทรงเสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดตั้งโรงเรียนการเมืองชั้นสูง(เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) พระปรีชาสามารถในด้านการทูตและการต่างประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และทรงมีชื่อเสียงการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย ทั้งยังทรงเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศด้วยคำบาลีและสันสกฤต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2519 สิริพระชันษา 85 ปี
พระประวัติและการศึกษา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร หรือ พระองค์วรรณ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และ หม่อมหลวงต่วนศรี (มนตรีกุล) วรวรรณ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และย้ายมาที่โรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2442 ต่อมาเมื่อเกิดโรคระบาด โรงเรียนปิดชั่วคราว จึงย้ายไปเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 1 ปี (ที่จริงคือตามไปใช้สถานที่เรียน) ต่อมาเมื่อโรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยสายสาวลี เปิดทำการจึงย้ายมาศึกษาต่อ และสอบได้ทุน King’s scholarship ได้เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ โดยเข้าอยู่ประจำที่ ‘วิทยาลัยแบเลียล’ (Balliol College) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในระดับเกียรตินิยมและปริญญาโท จากคณะบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) สาขาวิชาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ที่สถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ท่านจึงมีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ กระทั่งเป็นผู้วางกฎเกณฑ์การบัญญัติศัพท์โดยใช้คำบาลีและสันสกฤตให้ราชบัณฑิตยสถาน และใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้
มีคำศัพท์มากมายที่ทรงบัญญัติและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันเช่น
อัตโนมัติ (Automatic)
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
ประชาธิปไตย (democracy)
โทรทัศน์ (television)
วิทยุ (radio)
เสกสมรส
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสกสมรสกับหม่อมเจ้าพิบูลเบญจางค์ กิติยากร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ กับหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร มีบุตร คือ
หม่อมราชวงศ์วิบูลย์เกียรติ วรวรรณ สมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงทิพพากร อาภากร
หม่อมหลวงเกียรติกร วรวรรณ
หม่อมหลวงสุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ
และต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ สมรสอีกครั้งกับหม่อมพร้อยสุพิณ (บุนนาค) วรวรรณ มีธิดา คือ
หม่อมราชวงศ์วิวรรณ เศรษฐบุตร (วรวรรณ)
พระอิสริยยศ
พ.ศ. 2434 – หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
พ.ศ. 2482 – พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
พ.ศ. 2486 – พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
พ.ศ. 2495 – พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ลำดับตำแหน่งหน้าที่การงาน
พ.ศ. 2460 – เลขานุการตรี ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส และเลขานุการคณะทูตไทย ที่ประชุมสันติภาพ ภายหลังมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
พ.ศ. 2463 – หัวหน้ากองบัญชาการ กระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. 2465 – องคมนตรี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2467 – ปลัดทูลฉลอง กระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. 2469 – เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม
พ.ศ. 2473 – ศาสตราจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2477 – พ.ศ. 2490 – นายกราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2484 – หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพฝ่ายไทยในกรณีพิพาทอินโดจีน
พ.ศ. 2486 – นายกสมาคมราชวิทยาลัย เป็นสมาคมนักเรียนเก่าของโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เดิมคือโรงเรียนราชวิทยาลัย)
พ.ศ. 2489 – นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก
พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2501 – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. 2498 – หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเอเชีย-แอฟริกา (การประชุมบันดุง)ณ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย และทรงได้รับเลือกให้เป็นผู้เสนอรายงาน (Rapporteur)ของที่ประชุมดังกล่าว
พ.ศ. 2499 – พ.ศ. 2500 – ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 11
พ.ศ. 2501 – ประธานราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา เป็นองค์กรที่ฟื้นฟูและก่อตั้งโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในปัจจุบัน(เดิมคือโรงเรียนราชวิทยาลัย)
พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2513 – รองนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2506 – พ.ศ. 2514 – อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2512 – พ.ศ. 2516 – นายกราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2516 – ประธานสมัชชาแห่งชาติ
พระเกียรติคุณ
พลตรี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานยศทหาร และเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์และราชองครักษ์พิเศษ ในปี พ.ศ. 2496[10]
ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรมระดับโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศพระเกียรติคุณในฐานะปูชนียบุคคลสำคัญประจำปี พ.ศ. 2534
รางวัลนราธิป โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ในโอกาสสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก่อตั้งครบ 30 ปี และครบรอบ 100 ปีแห่งชาตะกาลของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ห้องประชุมวรรณไวทยากร โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปรับปรุงตึกโดม ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่เป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตั้งชื่อห้องประชุมที่ปรับปรุงใหม่เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ ในปี พ.ศ. 2548
นักการทูตที่ยิ่งใหญ่
กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ และมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการทูตและการต่างประเทศมาเกือบตลอดพระชนม์ชีพ กระทั่งได้รับการยกย่องจากเวทีทางการทูตโลกให้ดำรงตำแหน่งประธานในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
ทรงเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้นั่งเก้าอี้อันทรงเกียรติจวบจนถึงปัจจุบันพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง และในต่างประเทศทรงได้รับการยกย่องเป็น “ดวงปัญญาแห่งภาคพื้นตะวันออก”
ในความเป็นอัจฉริยะ เป็นปราชญ์ในวิชาการหลาย ๆ ด้าน ไม่เฉพาะเป็นนักการทูตชั้นเอก ยังทรงเชี่ยวชาญในด้านการบริการ ด้านภาษาศาสตร์ ทรงบัญญัติศัพท์ ทรงปรีชาสามารถในการถอดรหัสคำจากภาษาต่างประเทศเป็นคำไทยได้อย่างลงตัวจนเป็นที่ยอมรับและใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจโดยไม่เคยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนพระองค์แต่ประการใด หากมีปัญหาก็ทรงหาทางแก้ไข หรือไกล่เกลี่ย หรือถ้ามีผู้โจมตีกล่าวหาใส่ร้าย ท่านจะไม่ทรงโต้ตอบ นี่คือคุณลักษณะที่ได้รับยกย่องและกล่าวขวัญถึงมากที่สุด
ทรงอ้างแนวทางการทูตของ Sir Ernest Satow เป็นหลักในการปฏิบัติงานมาโดยตลอดว่า
“การทูตเป็นการใช้เชาวน์และความแนบเนียน ในการดำเนินความสัมพันธ์ทางราชการระหว่างประเทศ”
ทรงแนะนำว่า ความแนบเนียน หรือ “แทกต์” นั่นหมายความว่า การเข้าคนได้สนิท ต้องผูกมิตร รู้จักนิสัยใจคอของนักการทูตจากประเทศอื่น ๆ ที่ติดต่อเจรจากันอยู่
ด้วยแนวคิดและวิธีการที่แนบเนียน และทรงใช้จิตวิทยาแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมทำตามข้อเรียกร้องแบบไม่รู้สึกเสียผลประโยชน์และเสียหน้า ยกตัวอย่าง การเจรจาอนุสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 มูลเหตุความขัดแย้ง แม่น้ำโขง เป็นครั้งแรกที่ทรงเป็นผู้เจรจาต่อรองโดยตรงในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
การเจรจาครั้งนั้นสามารถเปลี่ยนแนวทางการเจรจาจาก “แม่น้ำระหว่างประเทศ” เป็น “แม่น้ำแบ่งเขตแดน” ได้ โดยการพิจารณาทางจิตวิทยาฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝรั่งเศสที่เคยจะฮุบแม่น้ำโขงทั้งหมด ยอมใช้การแบ่งเขตโดยยึดเกาะกลางแม่น้ำและร่องน้ำลึกแทน
“นักการทูตควรพัฒนาไมตรีจิตก่อน จากนั้นความเข้าใจอันดีจะตามมา
ปัญหาของความสำเร็จอยู่ที่ความเข้าใจในปัญหา”
แนวทางการทูตที่เฉียบแหลมเยี่ยงนี้ สมควรที่นักการทูตไทยควรจดจำไปเป็นเยี่ยงอย่าง เนื่องจากทรงได้รับยกย่องมาโดยตลอดว่า ทรงเป็นนักประนีประนอมที่สามารถแก้ไขภาวะชะงักงันในการประชุม และนำความสำเร็จมาสู่การเจรจา ทรงรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย โดยไม่ได้ขัดต่อหลักการ “หารร่วมมาก” เป็นสูตรแสวงหาแนวทางร่วมกันให้ได้มากที่สุดเมื่อมีการขัดกันอยู่ อันจะทำให้ปรองดองง่ายขึ้น คุณลักษณะประนีประนอมของพระองค์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกรัฐบาลไว้วางใจพระองค์
นักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่อง
ทรงทำหนังสือพิมพ์ ใช้ชื่อว่าประชาชาติ นิพนธ์เกี่ยวกับสถาน การณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทรงใช้ชื่อหัวเรื่องว่า ไขข่าว โดย ไววรรณ ทรงมีเวลานิพนธ์เรื่องราวต่าง ๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งมีหม่อมพร้อยสุพิณ (สกุลเดิมบุนนาค) ชายา เป็นประธานกรรมการของบริษัท และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติในขณะนั้น มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนหลานหลวง ใครที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สามารถหาข้อมูลย้อนหลังได้จากคอลัมน์ “ไขข่าว” ซึ่งหอสมุดแห่งชาติยังเก็บไว้เป็นอย่างดี เสด็จในกรมฯทรงนิพนธ์ไว้หลายฉบับทีเดียว
นอกจากนี้เสด็จในกรมฯยังทรงเมตตานักหนังสือพิมพ์ไทย ทรงนัดนายโจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ใหนักหนังสือพิมพ์ไทยได้สัมภาษณ์ ในการประชุมระหว่างประเทศที่บันดุง อินโดนีเซีย ถือเป็นครั้งแรกของนักหนังสือพิมพ์ไทย
พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เคยรับสั่งว่า
“นักหนังสือพิมพ์เป็นวิชาชีพหนึ่งซึ่งต้องใช้ความสามารถและความอดทนเป็นพิเศษ
จึงจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพนี้สำเร็จลุล่วงไปได้”
พระองค์ได้รับการยอมรับจากคนในวงการหนังสือพิมพ์ให้เป็นปรมาจารย์ เพราะทรงเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักการทูต นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักประพันธ์ ทรงใช้ความรู้ ความวิริยะ อุตสาหะ และภูมิปัญญา ประกอบภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล
นักภาษาศาสตร์ – นักประพันธ์ – นายกคนแรกแห่งราชบัณฑิตย์
ด้วยเหตุที่ทรงงานหนังสือพิมพ์ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการบัญญัติศัพท์เพื่อความเจริญก้าวหน้าของภาษาไทยและมีคำศัพท์เทคนิค ศัพท์เฉพาะทางมากขึ้น การจะนิพนธ์งานให้คนไทยเข้าใจจึงกลายเป็นความจำเป็นระดับประเทศ
Comments are closed