พระสุพรรณกัลยา
พระสุพรรณกัลยา สุวรรณกัลยา หรือ สุวรรณเทวี เป็นพระราชธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และเป็นพระพี่นางใน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เชื่อว่าพระนามเดิม คือ องค์ทอง
ชีวิตในกรุงหงสาวดี
พระสุพรรณกัลยา พระราชธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระนางปรากฏในพงศาวดารพม่าระบุว่า ในปี พ.ศ. 2112 เจ้าฟ้าสองแคว (พระอิสริยยศของพระมหาธรรมราชาเมื่อครั้งได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าบุเรงนองให้ขึ้นครองพิษณุโลก) ได้ถวายพระธิดาชื่อ สุวรรณกัลยา พระชันษา 17 ปี กับบริวารและนางสนมรวม 15 คนแก่พระเจ้าบุเรงนอง โดยพระองค์ได้สถาปนาเป็นเจ้านาง มีพระตำหนักและฉัตรส่วนพระองค์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องใช้สิ่งของ ข้าราชบริวารที่เป็นชาวไทยทั้งหมด เมื่อจะเสด็จไปยังที่ใด จะโดยเสลี่ยงหรือพระที่นั่งหรือพระพาหนะใดก็ตาม จะมีเจ้าพนักงานกางฉัตรถวาย และพระองค์ทรงอยู่อย่างเกษมสำราญ
พระนางมีพระธิดา 1 พระองค์กับพระเจ้าบุเรงนอง ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า เจ้านางเจ้าภุ้นชิ่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่โดยมากจะรู้จักกันในพระนาม เจ้านางเมงอทเว ในพระราชพงศาวดารพม่าได้บันทึกว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นเจ้านางที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี
ด้วยเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จออกราชการสงครามอยู่เสมอ ทำให้พระสุพรรณกัลยารวมทั้งเจ้านางองค์อื่นทรงดำเนินชีวิตในพระราชวังตามปกติ โดยมิได้เส็ดจออกงานหรือเห็นโลกภายนอกจนกว่าที่พระเจ้าบุเรงนองจะเสด็จกลับหงสาวดีจึงจะมีการจัดงานสำคัญ โดยในวันเพ็ญเดือนมีนาคม พ.ศ. 2116 มีงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อยได้ประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน 5 วัน นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้เสด็จออกนอกพระราชฐานมานานว่า 3 ปี
หลังจากงานบูชามหาเจดีย์จบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองได้นิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทใหญ่ 3,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะ อย่างละองค์ ในการนี้พระเจ้าบุเรงนองได้ทำการเฉลิมพระยศพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยในการนี้ เจ้านางเจ้าภุ้นชิ่ พระราชธิดาในพระสุพรรณกัลยาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เนื่องจากทรงได้รับสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลก นับแต่นั้นมาทุกคนจึงขานพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้านางพิษณุโลก
กรณีการสิ้นพระชนม์
ภายหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2124 พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน ภายหลังจากที่พระมหาอุปราชามังกะยอชวาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2135 จากการทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งการสิ้นพระชนม์นั้นในพงศาวดารรวมถึงคำให้การต่างๆ ทั้งของไทยและพม่าต่างก็ให้ข้อมูลต่างกันออกไปเกี่ยวกับการกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยา
หลักฐานของไทย
คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า “พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาตัวนายทัพนายกองที่ไปกับพระมหาอุปราชนั้น ใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น แต่เท่านั้นยังไม่คลายพระพิโรธ จึงเสด็จไปสู่ตำหนักพระสุวรรณกัลยา เอาพระแสงฟันพระนางสุวรรณกัลยากับพระราชธิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์”
คำให้การขุนหลวงหาวัด ได้กล่าวใกล้เคียงกัน แต่ต่างที่เป็นพระราชโอรสมิใช่พระราชธิดา ความว่า “ฝ่ายพระเจ้าหงสา ทรงพระพิโรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐานเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศวรนั้นบรรทมให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ในพระที่ พระเจ้าหงสาวดีจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่พิราลัยด้วยกันทั้งสองพระองค์ ด้วยพระเจ้าหงสาวดีทรงโกรธยิ่งนัก มิทันจะผันผ่อนได้”
หลักฐานของพม่า
ไม่ปรากฏการสิ้นพระชนม์ในหลักฐานพม่า
อย่างไรก็ตามจากหลักฐานของไทยและพม่าก็ต่างแสดงความมีตัวตนของพระสุพรรณกัลยา และประทับอยู่ในหงสาวดีตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2112 ขณะมีพระชันษาได้ 17 ปี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2135 ที่เกิดยุทธหัตถี พระองค์จึงน่าจะมีพระชันษา 40 ปี และหากมีพระโอรส-ธิดากับพระเจ้าบุเรงนอง พระโอรสธิดาก็ควรมีพระชันษาราว 8 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งดูจะขัดแย้งกับคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่กล่าวถึงการ ให้พระโอรสเสวยนมอยู่ในที่ ส่วนกรณีที่ถูกพระแสงดาบของพระเจ้านันทบุเรงเช่นเดียวกัน เนื่องจากหากพระเจ้าแผ่นดินจะประหารชีวิตใครก็จะบันทึกเรื่องราวไว้โดยละเอียด แต่ในเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยากลับไม่ปรากฏไว้เลย
หลักฐานที่ขัดแย้งกัน
แม้การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยานั้นจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเกิดจากแรงโทสะของพระเจ้านันทบุเรง ตามหลักฐานประเภทคำให้การของไทย แต่มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าได้นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป โดยกล่าวถึงเจ้าภุ้นชิ่หรือเจ้าหญิงพิษณุโลกได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง และมีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 พระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี พระเจ้านยองยันได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้นเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้านยองยันพระสุพรรณกัลยารวมถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกก็ยังทรงประทับในนครอังวะอย่างปกติสุขจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ โดยมิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด
พระสุพรรณกัลยา ก็ทรงเป็นเฉกเช่นขัตติยนารีอีกหลายพระองค์ที่ไม่เพียงไม่ปรากฏพระนาม และพระจริยวัตรในพระราชพงศาวดาร แต่กลับมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างชาติ และหลักฐานประเภทคำบอกเล่า กล่าวได้ว่าฐานะและบทบาทของพระสุพรรณกัลยาแตกต่างไปจากขัตติยนารีองค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระสุริโยทัย พระมหาดิลก พระสุวัฒน์ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และพระเทพกษัตรีย์ เนื่องด้วยพระองค์ถูกส่งไปยังต่างแดนในฐานะตัวประกันอย่างเป็นทางการ
ดังได้กล่าวเป็นสังเขปไว้บ้างแล้วในตอนต้นว่า พระสุพรรณกัลยาทรงมีฐานะเป็นขัตติยนารีที่สูงด้วยฐานันดรศักดิ์ จะเป็นรองก็แต่เพียงพระอัครมเหสี ด้วยฐานันดรศักดิ์อันสูงส่งกว่าผู้ใดนี้ น่าจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระองค์ไปเป็นพระมเหสีเล็ก หรือโกโละดอ ตำแหน่งทั้งสองนี้ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นตำแหน่งพระมเหสีระดับสูงของราชสำนักตองอูยุคต้น แต่ก็เป็นตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
ตำแหน่งโกโละดอนี้ปกติแล้วเป็นตำแหน่งที่ราชสำนักพม่าตั้งให้กับเหล่าราชธิดาของเจ้าฟ้า (sawbwas) ที่เป็นประเทศราช และธิดาอำมาตย์ทั้งหลาย[1] ผู้เป็นราชธิดาเจ้าฟ้าเมืองประเทศราช ทั้งนี้รวมถึงพระสุพรรณกัลยาด้วยนั้น จะมีฐานะ ๒ ประการที่กษัตริย์พม่าต้องพึงสำเหนียก ฐานะหนึ่งนั้นคือ ฐานะในระบบการแบ่งชั้นมเหสีตามธรรมเนียมพม่า ซึ่งมิได้ทรงศักดิ์เท่าพระมเหสีใหญ่ แต่ฐานะอีกฐานะหนึ่งซึ่งมิได้สูญหายไปด้วย คือ ฐานะแห่งความเป็นราชธิดา พระพี่นาง หรือพระประยูรญาติสำคัญของเหล่าเจ้าฟ้าประเทศราชที่ยอมตนสวามิภักดิ์
เห็นได้ว่าการระบุถึงเหล่ามีพะยาเง และโกโละดอทั้งหลายนั้น ผู้บันทึกพงศาวดารพม่าจะไม่ลืมที่จะกล่าวย้ำถึงฐานะประการหลังพร้อมกันไปด้วย อาทิ “อะเมี้ยวโยง พระพี่นางพระนริศกษัตริย์โยธยา” ฐานะประการหลังนี้สำคัญกว่าฐานะประการแรก เพราะเป็นสายใยสำคัญที่จะยึดเหนี่ยวทั้งความสัมพันธ์ และความจงรักภักดีของเหล่าเจ้าประเทศราชไว้ได้ หากเข้าใจความสำคัญในประเด็นนี้ก็จะเข้าใจความสำคัญของพระสุพรรณกัลยา และขัตติยนารีพระองค์อื่น อาทิ พระธิดาพระมหินทร์ และพระอินทรเทวี ผู้ถูกส่งไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง
แท้จริงการที่กษัตริย์พม่ายึดราชธิดากษัตริย์อยุธยาไว้เป็นองค์ประกัน พร้อมสร้างพันธะและอวยยศให้เป็นมเหสีเล็ก หรือบาทบริจาริกานั้น มิได้เป็นประพฤติที่ผิดประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเอกราชและเจ้าประเทศราชอันใด กระนั้นฐานะของผู้ถูกนำไปเป็นองค์ประกันโดยเฉพาะฐานะประการหลังคือ การเป็นพระราชธิดา พระพี่นาง หรือพระประยูรญาติใกล้ชิดของกษัตริย์นั้น มีความสำคัญที่ผูกติดกับความผันแปรทางการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก บุคคลที่ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันนั้น จะเป็นบุคคลที่ถูกคัดเลือกให้สอดรับกับสภาพความผันแปรทางการเมือง เป็นเหตุให้ราชสำนักข้างอยุธยาต้องส่งพระราชธิดาให้พระเจ้าบุเรงนองต่างกรรมต่างวาระกันถึง ๓ พระองค์ พระธิดาของพระมหินทร์ ถูกนำตัวไปเมื่อพระมหินทร์ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา (หลักฐานตามพงศาวดารพม่า)
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระนางต้องเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคพระมหินทร์ แต่ภายหลังเมื่อพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ พระราชธิดาพระมหินทร์ผู้เป็นองค์ประกันก็มิได้มีความสำคัญอันใดอีก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลให้ราชสำนักอยุธยาต้องส่งพระสุพรรณกัลยา ผู้เป็นราชธิดาผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอยุธยาขณะนั้นไปเป็นองค์ประกันใหม่ ความสำคัญของพระสุพรรณกัลยาจึงผูกติดเป็นเนื้อเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจารีตไทย-พม่านับแต่ พ.ศ. ๒๑๑๒ เป็นต้นไป อันนับเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการในบริบทประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่า
ในแผ่นดินพม่าช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าเริ่มต้องเผชิญกับปัญหากบฏภายใน อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของราชอาณาจักรที่เติบโตโดยฉับพลัน โดยปราศจากโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงรองรับ ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน อันเป็นผลจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนองใน พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้านันทบุเรงพระราชโอรสซึ่งขึ้นครองอำนาจสืบต่อมิได้มีพระบารมี และพระปรีชาสามารถเท่าพระราชบิดา เป็นเหตุให้เกิดสงครามภายใน และการท้าทายอำนาจจากเจ้าประเทศราช ทั้งนี้รวมถึงอยุธยาด้วย
ข้างอยุธยานั้นไม่เพียงเกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเช่นกัน แต่ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าตามมา คือ การสถาปนาฐานกำลังที่เป็นปึกแผ่นมั่นคงในราชอาณาจักร ที่กษัตริย์ต้องเผชิญกับการท้าทายอำนาจของขุนนางระดับสูงมาอย่างสืบเนื่อง นับแต่ช่วงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นอย่างช้า การขึ้นสู่อำนาจของพระมหาธรรมราชาภายใต้การสนับสนุนของพม่า เปิดโอกาสให้ราชสำนักได้วางรากฐานอำนาจที่มั่นคงขึ้น ทั้งนี้ด้วยเจ้านาย และขุนนางผู้มีอำนาจและเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองถูกตัดรากถอนโคนไปจนแทบจะหมดสิ้น
ภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งมีพระมหินทร์เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย พระมหาธรรมราชากษัตริย์องค์ใหม่ก็สามารถแต่งตั้งคนของตนขึ้นเป็นขุนนางตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ถึงแม้โดยนัยหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ในระยะต้นจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคน เนื่องจากไพร่ฟ้าประชาชนได้ถูกพระเจ้าบุเรงนองกวาดต้อนไปเป็นจำนวนมาก แต่เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้นพระองค์ก็ทรงสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับราชอาณาจักรได้ ทั้งนี้เห็นได้จากการที่ทรงสามารถป้องกันการรุกรานจากเขมรใน พ.ศ. ๒๑๑๓, ๒๑๑๘ และ ๒๑๒๑ และทรงปราบกบฏญาณพิเชียร ซึ่งเป็นกบฏใหญ่ใน พ.ศ. ๒๑๒๔ ลงได้สำเร็จ หลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายืนยันว่าพระองค์มีทหารต่างชาติตะวันตกใช้ในราชการสงคราม เพราะทหารต่างชาติมีบทบาทในการปราบกบฏณาณพิเชียรด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ จังหวะเวลาที่พระสุพรรณกัลยาทรงเป็นองค์ประกันที่ราชสำนักหงสาวดีนั้น เป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับที่อยุธยาสามารถฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง และเสริมสร้างความเข้มแข็ง จนภายหลังพร้อมที่จะท้าทายอำนาจหงสาวดีได้อย่างเปิดเผย ในช่วงแห่งการปรับเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งมีพระสุพรรณกัลยาเพียงพระองค์เดียวที่เป็นผู้มีความสำคัญที่สุด ในฐานะที่เป็นสายใยเหนี่ยวรั้งความสัมพันธ์ และ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ระหว่างราชสำนักหงสาวดีและอยุธยา นับแต่ พ.ศ. ๒๑๑๒-๑๓ ที่พระสุพรรณกัลยาได้ตกเป็นองค์ประกัน จนถึง พ.ศ. ๒๑๒๕ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงท้าทายอำนาจหงสาวดีอย่างเปิดเผย ก็คือช่วงที่อยุธยาได้ฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง และไพร่พลให้พร้อมประกาศตนเป็นอิสระจากเจ้าเอกราชพม่า และพร้อมจะเปิดศึกใหญ่ในทุกทิศทุกทางนั้นเอง
ไม่มีหลักฐานระบุว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใดขึ้นกับพระสุพรรณกัลยา ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนองใน พ.ศ. ๒๑๒๔ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่พระนเรศวรทรงประกาศพระองค์อย่างแน่ชัด ว่าไม่รักษาสัมพันธไมตรีกับพระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์ใหม่ผู้ขึ้นครองกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ด้วยการนำทัพจากกรุงศรีอยุธยาจู่ตรงเข้าสู่ราชธานีพม่า แทนที่จะขึ้นไปช่วยการศึกพระเจ้านันทบุเรงที่กรุงอังวะใน พ.ศ. ๒๑๒๗ ตามบัญชากษัตริย์พม่า ผลจากการประกาศตนแข็งข้อในครั้งนั้นเป็นเหตุให้เกิดศึกติดพันระหว่างราชสำนักหงสาวดี และราชสำนักอยุธยาอีกหลายครั้ง คือใน พ.ศ. ๒๑๒๗, ๒๑๒๙, ๒๑๒๙-๒๑๓๐, ๒๑๓๓ และ ๒๑๓๖ ศึกครั้งที่สำคัญที่สุดคือศึกใน พ.ศ. ๒๑๒๙-๒๑๓๐ ซึ่งทั้งหลักฐานข้างอยุธยาและพม่าระบุต้องกันว่า เป็นศึกใหญ่ที่พระเจ้านันทบุเรงทรงเป็นจอมทัพนำกำลังยกมาเอง ไพร่พลที่ถูกเกณฑ์มารบในครั้งนั้นมีจำนวนถึง ๒๕๒,๐๐๐ ช้าง ๓๒๐ และม้า ๑๒,๐๐๐ ในพงศาวดารพม่ากองทัพอันยิ่งใหญ่นี้เคลื่อนออกจากกรุงหงสาวดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๑๒๙
ถึงแม้ว่าในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการทหาร ศึกนันทบุเรงใน พ.ศ. ๒๑๒๙-๓๐ จะเป็นศึกที่สำคัญที่สุด ด้วยข้างพม่าพยายามเตรียมขั้นตอนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถกรีธาทัพเข้ามาทางเส้นระแหงแขวงเมืองตาก อันเป็นเส้นที่พระเจ้าบุเรงนองกระทำการได้ชัยกรุงศรีอยุธยาถึง ๒ ครั้ง (พ.ศ. ๒๑๐๖ และ พ.ศ. ๒๑๑๒) ศึกที่ถูกกล่าวถึงและให้ความหมายเป็นพิเศษตามข้อเท็จจริงที่มีสะท้อนให้เห็นทั้งในหลักฐานข้างอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร หลักฐานประเภทคำให้การเชลยศึก หลักฐานพม่า และหลักฐานตะวันตก คือศึกคราวเสียพระมหาอุปราชา (พ.ศ. ๒๑๓๖)
Comments are closed