พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
พระยาศรีสุนทรโวหาร นามเดิม น้อย ต้นสกุลอาจารยางกูร (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 — 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434) เป็นชาวฉะเชิงเทรา ท่านได้รับสมญาว่าเป็นศาลฎีกาภาษาไทย เป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย เรียกว่า “แบบเรียนหลวง” ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง “รามเกียรติ์” รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง
นามเดิมของท่านคือ น้อย อาจารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ท่านมีผลงานที่เด่นมากในวงการศึกษา ท่านเป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่า “แบบเรียนหลวง” ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนหลวงแห่งแรก) และหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กลองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง “รามเกียรติ์” รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง ท่านถึงแก่อสัญญกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434
เมื่ออายุได้ประมาณ 5-7 ปี เรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร์ กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน ในขณะที่หลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร อุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่ออายุ 15 ปี ท่านได้เข้าไปศึกษาต่อในพระนคร อยู่กับสามเณรน้าชาย ชื่อทัด ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อายุ 14 ปี บรรพชาเป็นสามเณรเรียนหนังสือไทยกับพระกรรมวาจาจารย์ (จัน) เรียนหนังสือขอมกับพระครูวิหารกิจจานุการ (กรรมวาจาจีน) ศึกษาพระธรรมวินัยจากสำนักต่าง ๆ เช่น
เรียนคัมภีร์สารสงเคราะห์ สำนักสมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน)
เรียนคัมภีร์มังคลัตถทีปนีในสำนักพระอุปทยาจารย์ (ศุข)
เรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน)
เรียนคัมภีร์กังขาวิตรณี ในสำนักอาจารย์เกิด
เรียนคัมภีร์มหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง
เรียนคัมภีร์อื่น ๆ ในสำนักพระครูปาน พระใบฎีกาแก้ว พระอาจารย์คง อาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์ด้วย
ท่านได้บวชเป็นสามเณร 8 ปี เมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศวรวิหาร ท่านแตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต รู้การแต่งคำประพันธ์ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 24 ปี ได้เข้าแปลปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค
ด้วยระยะเวลานั้น วัดสระเกศวรวิหารขาดพระมหาเปรียญเป็นเวลานับสิบปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยินดี ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่ รื้อกุฏิเก่าฝาไม้ไผ่ออกสร้างกุฏิตึกเป็นเสนาสนะงดงาม ตลอดทั้งก่อสร้างสถาปนาภูเขาทองด้วยนับเป็นเกียรติยศอย่างสูง ด้วยความอุตสาหะพากเพียรใฝ่รู้ของท่าน จึงได้ขอศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพรรษาที่ 6 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิสุตคุณ”
การทำงาน
พ.ศ. 2396 ท่านลาสิกขาบท เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) (หรือเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดีในขณะนั้น) ได้นำท่านเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอมคล่องแคล่ว ตามที่พระองค์ต้องการ ไม่ว่าจะติดขัดในประการใดก็ช่วยเหลือพระองค์ได้เสมอ ท่านรับราชการ 1 ปี ก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ “ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์” ทำงานเป็นผู้ช่วยของเจ้ากรมพระยารักษ์ ว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมพการ ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ขุนสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์ และเมื่อเจ้านครเชียงใหม่นำช้างเผือกมาถวาย ท่านจึงได้แต่งฉันท์กล่อมช้าง
พ.ศ. 2414 ท่านได้คิดแบบสอนอ่านหนังสือไทย รวม 6 เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์ ไวพจน์พิจารณ์ (ไวพจน์พิจารณ์แต่งในปี พ.ศ. 2425) ซึ่งเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยของพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ท่านจึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็น “พระสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์
พ.ศ. 2415 ท่านได้เป็นครูสอนหนังสือไทย ในกรมมหาดเล็ก
พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์สอนพระราชวงศ์ที่ยังพระเยาว์ และบุตรหลานข้าราชการได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 60 บาท ภายหลังได้คิดแบบเรียนอีกหลายเล่ม เช่น อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา (หนังสือขอม) นิติสารสาธก ปกรนำพจนาตถ์ โคลงฉันท์หลายเรื่อง
พ.ศ. 2418 ในปีนั้นพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระสารประเสริฐขึ้นเป็น พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ ถือศักดินา 3,000 ไร่
พ.ศ. 2422 เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามท่านได้มีส่วนในการแต่งโคลงรามเกียรติ์เพื่อจารึกที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ และเป็นท่านยังเป็นแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการแต่งทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย ผลงานและความชอบในครั้งนั้นได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น”พระยาศรีสุนทรโวหาร ญานปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ” ถือศักดินา 3,000 ไร่ และได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 4 ชั่ง
พ.ศ. 2425 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภาอีกด้วย และให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรก ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า และได้รับพระราชทานพานหมากทอง คนโททอง กระโถนทอง เป็นเครื่องยศ
อนิจกรรม
พ.ศ. 2434 ท่านได้ป่วยด้วยโรคชรา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงรักษา และให้พาหมอเชลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการไม่ดีขึ้น ดังนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม สิริอายุได้ 69 ปี ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ ต่อมาได้มีการพระราชทานเพลิงศพพระยาศรีสุนทรโวหารเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ณ เมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเป็นองค์ประธาน
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีกลุ่มคณะ ครูอาจารย์ และบรรดาศิษย์ของโรงเรียนดัดดรุณีจังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีความเห็นพ้องกันว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทราและของประเทศ สมควรเชิดชูเกียรติท่านให้เป็นที่แพร่หลาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการเสนอให้ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาหนังสือไทย และเป็นกวีปราชญ์ของชาติไทย ต่อมาได้มีบุคคลหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินงาน และได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยมีคุณครูสอิ้ง กานยะคามินเป็นประธานกลุ่ม
ได้เริ่มดำเนินการสืบค้น รวบรวมเรียบเรียงประวัติและผลงานของท่านใหม่ รวบรวมเอกสารผลงานของท่าน พร้อมทั้งหาสถานที่ใช้เป็นหอเชิดชูเกียรติ ฯได้รับความเห็นชอบจากผู้ช่วยศาสตราจารย์เอนก เทพสุภรณ์กุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ในสมัยนั้น ให้ใช้สถานที่บริเวณชั้น ๓ อาคารราชนครินทร์ เป็นที่ตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในการดำเนินงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายครุภัณฑ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ประมาณ ๑,๕๑๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และเงินบริจาคที่คณะทำงานจะดำเนินการขอรับบริจาค แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้จัดสัญจรมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะใช้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาคตะวันนอก และกำหนดให้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นศูนย์กลาง ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ในการจัดทำหอเชิดชูเกียรติฯ คณะเชิดชูเกียรติฯ เห็นพ้องว่าควรหาสถานที่ใหม่
ต่อมานายวีระชัย ตนานนท์ชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้อนุญาตให้ใช้ห้องมุขชั้นบนสุดของอาคารสร้างใหม่ของโรงเรียนเป็นหอเชิดชูเกียรติฯได้ แต่สถานที่ก็ยังไม่เหมาะสม
ในระหว่างรวบรวมข้อมูลประวัติและติดตามรวบรวมเอกสารผลงานของท่าน มีการสืบค้นทายาทของตระกูลอาจารยางกูร ได้พบว่านายอัมรินทร์ คอมันตร์ บิดาของนายอรรถดา คอมันตร์ เป็นสายตระกูลจากคุณหญิงเล็ก คอมันตร์ ภรรยาคนแรกของพระยาพิพากษาสัตยาธิปไตย (โป๋ คอมันตร์) บุตรหญิงคนสุดท้องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ต้องการหาสถานที่ถาวรเป็นเอกเทศในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงสรรหาที่ดิน และบ้านเรือนไม้ทรงโบราณเพื่อนำมาดัดแปลงและประยุกต์เป็นอาคารหอจดหมายเหตุฯ โดยมีเป้าหมายที่บ้านอินทราสา ซึ่งตั้งอยู่หลังอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่บ้านหลังนี้การจัดการมรดกทรัพย์สินยังอยู่ในระหว่างชั้นศาล
คณะเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ได้ดำเนินการต่อโดยขอใช้ที่ดินของราชพัสดุกรมธนารักษ์ในบริเวณวัดโสธรวรารามวรวิหาร แต่ไม่มีที่ดินว่าง ในที่สุดโครงการนี้จึงได้ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๕๕๗
Comments are closed