พิธีโกนผมจุก
ในปัจจุบันนี้ เราจะมองหาเด็กที่ไว้ผมจุกแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้
เพราะโลกได้เจริญขึ้นและวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้มีบทบาทในประเทศไทยแผ่คลุมทั่วไปหมด พิธีกรรมโบราณ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคนก็ค่อยๆ หายสูญไป เหลือแต่เพียงอยู่ในความทรงจำเท่านั้น และอีกประการหนึ่ง การไว้ผมจุกให้แก่บุตรหลานตามสมัยโบราณนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีพิธีรีตองมากมาย สู้เอาไว้ผมตามแบบธรรมดาดีกว่า และถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็ไว้ยาวเสียเลยทีเดียว
สมัยก่อน-เมื่อเด็กมีอายุจะเข้าเขตวัยหนุ่มสาว (ชายอายุย่างเข้า 13 ปี หญิง 11 ปี ตามคตินิยมของอินเดีย) จึงมีการพิธีเพื่อบอกกล่าวแก่ญาติมิตร เช่น(Coming of Age ของฝรั่ง) อีกครั้งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “พิธีมงคลโกนจุก”
“พิธีมงคลโกนจุก” นี้ โดยมากมักจะหาโอกาสทำรวมกับพิธีมงคล เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด ฯลฯ เพราะนับเป็นงานมงคลเช่นเดียวกัน โดยมีสวดมนต์เย็น 1 วัน รุ่งขึ้นเลี้ยงพระแล้วก็ตัดจุกเด็กตามเวลาฤกษ์ ตอนบ่ายมีเวียนเทียนสมโภชทำขวัญเด็กตามพิธีพราหมณ์
งานพิธีจะจัดใหญ่โตแค่ไหนนั้น แล้วแต่ฐานะของเจ้าของงานจะเห็นสมควร ดังได้กล่าวแล้ว งานพิธีโกนจุกนี้ ถ้าได้รวมกับพิธีมงคลอื่นๆ ก็จะเป็นการประหยัดรายจ่ายได้อีก
สิ่งที่ต้องเตรียมการ
- ให้โหรผูกดวงชะตาของเด็ก เพื่อสอบหาวันและฤกษ์งามยามดีให้ละเอียดและกำหนดวันงานให้แน่นอน พิธีนี้ควรทำงานเป็น 2 วัน คือเริ่มพิธีและสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันอาหารบิณฑบาตเช้าและตัดจุก
การจัดเตรียมก็มีดังนี้
ก. จัดการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม และเหมาะสม เช่น มีผ้าหรือแพรเป็นระบาย ประดับทิวธงราชวัตรฉัตรชัย (สามัญชนใช้ฉัตร 3 ชั้น หรือจะไม่มีก็ได้) ประดับต้นกล้วย อ้อย ตลอดจนพันผ้าสีสลับกันรอบเสาโรงพิธีตั้งด้วยเบญจาอันประดับด้วยหยวกและฟักทองสลัก พร้อมทั้งใบและดอกไม้ของหอมให้สวยงาม
ข. จัดอาสนะ สำหรับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และจัดโต๊ะตั้งพระพุทธรูปพร้อมด้วยของบูชา ตลอดจนวงด้ายสายสิญจน์
ค. จัดโต๊ะหรือม้าสำหรับวางเครื่องมงคลพิธี
ง. เตรียมเครื่องใส่น้ำมนต์และเครื่องจุณเจิม
จ. เชิญโหรหรือพราหมณ์มาประกอบพิธี นอกจากสิ่งของเหล่านี้แล้ว ควรจัดเตรียม “เครื่องทวาทศมงคล” คือเครื่องที่เป็นมงคล 12 ประการไว้ดังนี้
ไตรพิธีมงคล 3 คือ
- พทฺธรตฺน มงคล ได้แก่ พระพุทธรูป (ดับทุกข์)
- ธมฺมรตฺน มงฺคล ได้แก่ พระพุทธมนต์ (ขจัดภัย)
- สงฺฆรตฺน มงฺคล ได้แก่ พระสงฆ์ (บำบัดโรค)
ษับฏาพิธมงคล 8 คือ - สิริปตฺตมงฺคล ได้แก่ บายศรี แว่นเวียนเทียน (ศิริวัฒนะ)
- กรณฺฑกุภมงฺคล ได้แก่ เต้าน้ำ หม้อน้ำ (โภควัฒนะ)
- สงฺขมงฺคล ได้แก่ สังข์ (ฑีฆายุวัฒนะ)
- โสวญฺณรชฏาทิมงฺคล ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง (สิเนหวัฒนะ)
- วชิรจกฺกาวุธมงฺคล ได้แก่ จักรและเครื่องอาวุธ (อิทธิเตชะวัฒนะ)
- วชิรคทามงฺคล ได้แก่ คธา “กระบองเพชร” (ภูติปีศาจ)
- องฺกุสมงฺคล ได้แก่ ขอช้าง ตาข่ายช้าง (อุปทวันตรายนิวารนะ)
- ฉัตฺตธชมงฺคล ได้แก่ ฉัตร ธงชัย (กิตติวัฒนะ)
มุขวาทมงคล 1 คือ slot - มุขวาทมงคล ได้แก่การเวียนเทียนทำขวัญให้ศีลให้พร (เป็นเครื่องประสิทธิ์ให้เจริญสวัสดิ์มงคลทุกประการ)
- พิธีตอนเย็น พอถึงวันสวดมนต์เย็น (วันแรกของงาน) ก็จัดการอาบน้ำแต่งตัวให้เด็ก เด็กสามัญมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ไปให้พราหมณ์ตัดจุก ในพิธีตรียัมพวายซึ่งมีประจำปีที่โบสถ์พราหมณ์ ส่วนผู้ที่มีกำลังจะทำพิธีได้ที่บ้านเรือนของตนเอง และแต่งตัวเด็กได้ตามความพอใจ ตั้งแต่ทำไรไว้ขอบรอบจุก และโกนผมล่างออกให้หมดจดเรียบร้อยแล้ว อาบน้ำทาขมิ้น เกล้าจุกปักปิ่นงามๆ และสวมมาลัยรอบจุก ผัดหน้าผัดตัวให้สะอาดขาวเหลืองเป็นนวลแล้วนุ่งผ้า ใส่เสื้อประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดา มีใส่กำไลเท้า กำไลมือ สังวาลย์ จี้ ฯลฯ สุดแท้แต่กำลังของสติปัญญาจะสรรหามาได้
เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จแล้ว ก็พาไปนั่งยังที่ทำพิธีมีโต๊ะตั้งตรงหน้า 1 ตัว สำหรับวางพานมงคล คือด้ายสายสิญจน์ที่ทำเป็นวงพอดีศรีษะเด็ก เมื่อผู้เป็นประธานในพิธีจุดเทียนหน้าพระรับศีล พระสวดมนต์แล้ว ก็ใส่มงคลนั้นให้แก่เด็กจนสวดมนต์จบแล้ว จึงปลดสายสิญจน์จากมงคลเด็กที่โยงไปสู่ที่บูชาพระนั้นออก แล้วพาเด็กกลับจากพิธีได้
รุ่งเช้า จัดการแต่งตัวเด็กโดยให้นุ่งผ้าขาวห่มขาวใส่เกี้ยวนวมสร้อยสังวาลย์เต็มที่อย่างเมื่อตอนเย็น แต่ไม่ใส่ถุงเท้ารองเท้า พาไปนั่งยังพิธีมีพานล้างหน้า และพานรองเกี้ยววางไว้บนโต๊ะตรงหน้าแขวนมงคล ผู้ที่จะโกนผมจัดการถอดเกี้ยวออกใส่พาน แล้วแบ่งผมจุกเด็กออกเป็น 3 ปอย เอาสายสิญจน์ผูกปลายผมกับแหวนนพเก้า (ซึ่งแปลว่า สี่ดาวประจำนพเคราะห์) และใบมะตูมทั้ง 3 ปอย ครั้นถึงเวลาฤกษ์โหรก็ลั่นฆ้องชัย พระสวด “ชยันโตฯ” ประโคมพิณพาทย์มโหรี ผู้เป็นประธานในพิธีจึงตัดจุกเด็กปอย 1 แล้วผู้เป็นใหญ่ในตระกูลตัดปอยที่ 2 พ่อเด็กตัดปอยที่ 3 ผู้ตัดไม่จำกัดบุคคลว่าเป็นผู้ใดแล้วแต่เจ้าของงานจะเชิญเจาะจงด้วยความนับถือ เมื่อตัดผมเด็กทั้ง 3 ปอยให้สิ้นแล้ว ผู้โกนผมก็จะเข้าไปโกนให้เกลี้ยง แล้วจูงเด็กไปถอดสร้อยนวมที่จะเปียกน้ำไม่ได้ออก และนำเด็กไปนั่งยังเบญจาที่รดน้ำซึ่งตั้งไว้ในชานชาลาแห่งหนึ่งพร้อมด้วยพระพุทธมนต์ที่ใส่ในคนโฑแก้ว เงินทอง ตามที่มี ตั้งไว้บนม้าหมู่หนึ่ง ผู้ที่มาในงานนั้นก็เข้าไปรดน้ำพระพุทธมนต์นั้นให้แก่เด็ก ตามยศและอาวุโส เมื่อเสร็จการรดน้ำแล้ว ก็พาเด็กขึ้นมาแต่งตัวใหม่และเลี้ยงพระสงฆ์ในเวลาที่เด็กแต่งตัวอยู่ ตอนนี้เด็กผู้ชายก็แต่งอย่างเด็กผู้ชายคือนุ่งผ้าใส่เสื้อ ส่วนผู้หญิงก็นุ่งจีบห่มสไบ แสดงให้เห็นว่าแยกเพศออกจากการเป็นเด็กแล้ว เมื่อแต่งตัวเต็มที่ใส่มงคลเรียบร้อยแล้ว ก็นำออกไปให้ถวายของพระที่ฉันแล้วด้วยตัวเด็กเอง เมื่อสวด “ยะถาสัพพี” ให้พรแล้วกลับ เด็กก็กลับมาพักถอดเครื่องแต่งตัวได้ จนถึงเวลาเย็นราว 16-17 น. ก็แต่งตัวเด็กชุดถวายของพระออกไปทำขวัญตามพิธีพราหมณ์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ไม่มีพระสงฆ์มีแต่พวกพราหมณ์และพิณพาทย์มโหรีสำหรับประโคมเวลาเวียนเทียนให้เด็กนั่งหลังโต๊ะบายศรี และพราหมณ์ก็ทำขวัญตามวิธี คือ ผูกมือจุณเจิมแป้งกระแจะน้ำมันจันทน์ ให้กินน้ำมะพร้าวแล้วเวียนเทียน 3 รอบ เป็นอันว่าเสร็จการทำขวัญ
Comments are closed