ไอคอนสยาม
ไอคอนสยาม (อังกฤษ: ICONSIAM, ชื่อเดิม: ดิไอคอนสยาม, บางกอก เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอ-ซิตี้ ) และ ไอซีเอส (อังกฤษ: ICS) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ 50 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณซอยเจริญนคร 5 ถนนเจริญนคร และ 5 ไร่บริเวณฝั่งตรงข้ามใกล้ปากซอยเจริญนคร 4 ในพื้นที่แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่าง สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น มีพิธีเปิดโครงการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
โครงการไอคอนสยามประกอบด้วย
- อาคารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 2 อาคารเชื่อมต่อกัน ซึ่งมีพื้นที่รวมมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ และมีพื้นที่ขายรวมกันมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัล เวสต์เกต
- อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย 2 อาคาร ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย
- อาคารศูนย์การค้าขนาดกลางที่เชื่อมต่อกับอาคารโรงแรม
โดยพื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยถนนภายในโครงการและสถานีเจริญนคร ของรถไฟฟ้าสายสีทอง
ประวัติ
ที่มาโครงการ
ไอคอนสยามเกิดจากการร่วมทุนกันของสยามพิวรรธน์, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์) มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 51:24.5:24.5 ตามลำดับ
ไอคอนสยามตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงสีสิบเก้า และตลาดศิรินทร์ ซึ่งต่อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท สยามอรุณ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือศรีกรุงวัฒนา โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่ระหว่างโรงแรมเพนนินซูล่า กับโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ นอกจากนี้ยังอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพ, โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ และอาคารสำนักงาน กสท โทรคมนาคม สาขาบางรัก
ไอคอนสยาม มีมูลค่าการลงทุนเมื่อเริ่มโครงการ 35,000 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท และ 54,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินลงทุนของบริษัทพันธมิตรทั้ง 3 บริษัท ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นสินเชื่อที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารธนชาต ร่วมเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งผู้ร่วมทุนทั้ง 3 บริษัทได้วางแผนในการเชื่อมโยงโครงการเข้ากับโรงแรม ศูนย์การค้า และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พิธีเปิด
ไอคอนสยามจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ในชื่อ “มหาปรากฏการณ์งานเปิดเมืองไอคอนสยาม” โดยในช่วงเช้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการด้วยพระองค์เอง และในช่วงค่ำได้มีการจัดการแสดงในชุด “โรจนนิรันดร” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ไทยแขนงต่าง ๆ และกายกรรมผาดโผน รวมถึงมีการเปิดตัว “เรือสำเภาศรีมหาสมุทร” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ตลอดจนมีการแสดงแปรขบวนของโดรนจากอินเทล จำนวน 1,400 ลำ และการแสดงคอนเสิร์ตของ อลิเชีย คีส์ รวมถึงการแสดงแสง สี เสียง ไปยังอาคารชุดเพื่อการพักอาศัยทั้ง 2 อาคารในโครงการด้วย
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน มีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนประมาณ 150,000 คน และในวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการเป็นวันแรก มีจำนวนประชาชนเข้าใช้บริการประมาณ 200,000 คน นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ยังมีมินิคอนเสิร์ตของศิลปินจากซีรีส์ รักใสใสหัวใจ 4 ดวง ฉบับประเทศจีน
ช่วงปีแรก
ในช่วงครึ่งปีแรกหลังการเปิดไอคอนสยาม ได้มีการเปิดร้านค้าอีก 20-25 แบรนด์ อาทิ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมถึงบริการต่าง ๆ อย่าง ไอคอน บาย ฟิตเนสเฟิร์ส สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย, ไอคอนสยาม เฮอร์ริเทจ มิวเซียม, ทรู ไอคอน ฮอลล์ ศูนย์ประชุม
จากสถิติหลังการเปิด 1 ปี (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562) ไอคอนสยามมีผู้เข้ามาใช้บริการในวันปกติเฉลี่ย 80,000-120,000 คนต่อวัน ส่วนในวันเทศกาล เช่น วันสิ้นปี วันขึ้นปีใหม่ วันลอยกระทง วันสงกรานต์ มีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 200,000-350,000 คนต่อวัน และมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ 35% โดยมีกลุ่มหลัก ๆ คือชาวจีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ทำให้มียอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 10,000-15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าศูนย์การค้าทั่วไปในประเทศไทย
การเดินทาง
- ทางเรือ จอดที่ท่าเทียบเรือจำนวน 4 ท่า (สาทร, ราชวงศ์, วัดม่วงแค, สี่พระยา) สำหรับให้บริการเรือรับ-ส่ง จากท่าเรือโดยสารและท่าเรือโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นการร่วมทุนกับกรุงเทพมหานครในลักษณะการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าโดยรอบจำนวน 3 สายเข้ากับโครงการ โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เชื่อมต่อกับอาคารที่สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) และยังทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมอาคารทั้งสองฝั่งคืออาคารหลักและอาคารไอซีเอสเข้าด้วยกัน ต้นทางจะเชื่อมต่อกับสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม
รถประจำทาง สาย 3, 6, 84, ปอ.84, 88, 89, 105, 111, 120, 149, 167, 177
Comments are closed